

รายงานการเข้ายื่นหนังสือร้องเรียน ณ สำนักนายกรัฐมนตรี
คณะกรรมการสมาพันธ์คาราโอเกะแห่งประเทศไทย ได้เข้ายื่นคำร้องถึง
ฯพณฯ ท่าน พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ผ่านทางสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล
ประกอบด้วยคณะกรรมการและตัวแทนผู้ประกอบการดังต่อไปนี้
1 นายเอกชัย อุณหทรงธรรม รองประธานฯ
2 นายชัยวัฒน์ สดงาม รองประธานฯ
3 นายพรชัย ศิรินุกูลชร เลขาธิการฯ
4 นางอุไรพร แซ่ล้อ เหรัญญิก/กรรมการ
5 นายจ้าย ประทานพรโชคชัย กรรมการ
6 นายไพบูลย์ บุญจิตต์วรชูชัย กรรมการ
7 นายจีระพันธ์ คงบวรเกียรติ กรรมการ
8 นายสมศักดิ์ ทรัพย์สกุลเจริญ กรรมการ
9 นางศรัญญา สดงาม ตัวแทนผู้ประกอบการ
10 นายวิเชียร คงพร้อมสุข ตัวแทนผู้ประกอบการ
11 นายเกรียงไกร สีทิม ตัวแทนผู้ประกอบการ
โดยรายละเอียดในข้อร้องเรียนและข้อเสนอในการแก้ปัญหาดังต่อไปนี้
-1-
สมาพันธ์คาราโอเกะแห่งประเทศไทย
Thai Karaoke Confederation(TKC)
72/18 ม.บางบัวทอง ม.4 ถ.บ้านกล้วย-ไทรน้อย ต.พิมลราช อ.บางบัวทอง นนทบุรี 11110
โทรศัพท์ 02-9233523 มือถือ 089-1720671 โทรสาร 02-9232543 http://www.thkaraoke.com/ E-mail pornchai@bangbuathong.org
วันที่ 22 ธันวาคม 2549
เรื่อง ปัญหาการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลงซ้ำซ้อนและอัตราจัดเก็บที่ไม่เป็น
เรียน ฯพณฯ ท่าน พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี
เอกสารที่ส่งมาด้วย
1 สำเนาเอกสารร้องเรียนตามใบรับสำนักนายกรัฐมนตรี เลขที่ 0442 ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2549
2 เอกสารรายงานผลกระทบจากการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ และข้อเสนอในการแก้ปัญหา
3 สำเนาเอกสารคำพิพากษาคดีละเมิดลิขสิทธิ์ ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศหมายเลขดำที่ อ.1919/2546 หมายเลขแดงที่ อ.2345/2547
4 สำเนาเอกสารขอปรับขึ้นราคาจัดเก็บของบริษัท จัดเก็บลิขสิทธิ์ไทย จำกัด(ทีซีซี)ลงวันที่ 27 ก.ย.2549
5 สำเนาเอกสารบทสัมภาษณ์การแก้ปัญหาการจัดเก็บซ้ำซ้อนค่าลิขสิทธิ์เพลงโดยรองอธิบดีบรรยงค์ ลิ้มประยูรวงศ์ จากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 14 พฤศจิกายน 2549 หัวข้อ คาราโอเกะโวยโดนรีดลิขสิทธิ์เพลงซ้ำซ้อน
ปัญหาการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลงซ้ำซ้อนและอัตราจัดเก็บที่ไม่เป็นธรรม
อ้างถึง ตามที่สมาพันธ์คาราโอเกะแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรตัวแทนของผู้ประกอบการคาราโอเกะและผู้ใช้งานเพลงอันมีลิขสิทธิ์ที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ปี 2537 ซึ่งผลกระทบที่เกิดจากการบังคับจัดเก็บได้สร้างผลกระทบในสังคมเป็นวงกว้างทั้งในส่วนของผู้ประกอบการที่ใช้งานเพลงและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องเช่นร้านอาหาร ธุรกิจบริการ และธุรกิจบันเทิง ผู้ประกอบการคาราโอเกะเป็นต้น
สมาพันธ์คาราโอเกะได้ยื่นหนังสือถึงสำนักนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2549 เพื่อให้มีการแก้ไขในประเด็นของปัญหาในการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ ในประเด็นที่เจ้าของสิทธิ์แยกตัวออกมาจากองค์กรจัดเก็บเดิม ออกมาตั้งองค์กรจัดเก็บเพิ่มจนเกิดผลกระทบต่อผู้ประกอบการด้านอัตราจัดเก็บและสิทธิ์ของเพลงที่ซ้ำซ้อนกัน ตามรายละเอียดในสำเนาเอกสาร เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2549นั้น ลุล่วงจนปัจจุบันปัญหาเดิมที่ยังไม่ได้มีการแก้ไข ก็ได้เกิดปัญหาซ้ำซ้อนในประเด็นเดียวกันอีกจากการประกาศขึ้นราคาของบริษัท จัดเก็บลิขสิทธิ์ไทย จำกัด(ทีซีซี) ดังสำเนาเอกสารที่แนบมาด้วย
เมื่อมีการบังคับจัดเก็บในระยะแรกได้มีการแบ่งกลุ่มเป็น 2 องค์กรจัดเก็บ โดยภาพรวมได้มีการรวบรวมครูเพลงและเจ้าของลิขสิทธิ์เข้ามาร่วมกันในแต่ละฝ่าย คือฝ่ายบริษัทแกรมมี่เป็นองค์กรหนึ่ง และฝ่ายบริษัทอาร์เอสเป็นอีกองค์กรหนึ่ง การจัดเก็บของแต่ละองค์กรก็คือความมุ่งหมายในการจัดเก็บสิทธิ์เผยแพร่ ที่มีสิทธิ์เผยแพร่ดนตรีกรรม (ที่เป็นงานลิขสิทธิ์โดยตรง) ที่เป็นของครูเพลงและสิทธิ์เผยแพร่สิ่งบันทึกเสียง (หรือสิทธิ์ข้างเคียงลิขสิทธิ์) ที่เป็นของค่ายเพลง
-2-
ฉะนั้นการจัดเก็บค่าเผยแพร่จึงต้องแบ่งเป็น 2 ส่วนคือในส่วนของ สิทธิ์ครู และ สิทธิ์ค่าย หากจะตั้งข้อสังเกตุสักนิดจะเห็นว่าประเด็นความผิดพลาดและขัดต่อหลักการและความเป็นจริงคือ กฎหมายลิขสิทธิ์กำหนดให้คุ้มครองเจ้าของงานอันมีลิขสิทธิ์ก็คือครูเพลง ในส่วนของค่ายเพลงเป็นเพียงเจ้าของสิทธิ์ข้างเคียงที่เป็นผู้ลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับงานลิขสิทธิ์ กฎหมายนานาชาติจึงกำหนดให้เป็นเพียง สิทธิ์ข้างเคียง โดยฝ่ายครูเพลงตามกฎหมายถือว่าเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ผู้สร้างสรรจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายในการเป็นผู้บริหารจัดเก็บงานลิขสิทธิ์เพลง หรือเป็นผู้จัดตั้งองค์กรจัดเก็บค่าเผยแพร่ลิขสิทธิ์เป็นกิจกรรมหลักและจัดเก็บสิทธิ์ข้างเคียงเป็นกิจกรรมอันดับรอง แต่เป็นเพราะศักยภาพในการจัดตั้งและองค์กรครูเพลงยังไม่มีความเข้มแข็งพอเมื่อเปรียบเทียบกับด้านของค่ายเพลง จากการที่ฝ่ายค่ายเพลงเข้ามาสวมสิทธิ์ในการบริหารจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เผยแพร่ตั้งแต่ต้น ซึ่งขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายลิขสิทธิ์ เป็นความผิดพลาดของการบริหารจัดการของภาครัฐที่ไม่ได้เข้ามาแทรกแซงหรือจัดตั้งให้กับฝ่ายครูเพลงเจ้าของสิทธิ์ตั้งแต่ต้น
ฝ่ายครูเพลงเมื่อถูกสวมสิทธิ์และไม่ได้เป็นฝ่ายบริหารจัดการเองโดยเป็นเพียงผู้รับผลตอบแทนในการจัดเก็บจากค่ายเพลง จึงเกิดการหวาดระแวงในปัญหาความไม่โปร่งใสและความไม่เป็นธรรมในการรับผลตอบแทน จึงได้มีการแยกตัวออกมาจัดเก็บเองตามสิทธิที่ตนมีตามกฎหมาย จนถึงปัจจุบันมีองค์กรจัดเก็บถึง 14 องค์กรตามข้อมูลของกรมทรัพย์สินทางปัญญา เป็นสาเหตุหลักที่ต่างฝ่ายต่างอ้างความชอบธรรมทั้งในส่วนของ สิทธิ์ครูและสิทธิ์ค่าย เป็นที่มาของปัญหาเพลงซ้ำซ้อนที่ทางกรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ตั้งเป็นประเด็นขึ้นซึ่งเบี่ยงเบนไปจากข้อเท็จจริง สำหรับในส่วนขององค์กรผู้ประกอบการอย่างเช่นสมาพันธ์คาราโอเกะแห่งประเทศไทย ได้สรุปประเด็นปัญหาว่าเป็นเพราะการจัดเก็บซ้ำซ้อนของเจ้าของสิทธิ์ที่เดิมจัดเก็บอยู่กับ 2 กลุ่มดังกล่าวแยกออกมาจัดเก็บซ้ำซ้อน ไม่ใช่ประเด็นของเพลงซ้ำซ้อนแต่เป็นประเด็นการ จัดเก็บซ้ำซ้อน ทำให้อัตราจัดเก็บเพิ่มขึ้นโดยไม่มีการควบคุมจากภาครัฐ ทั้งๆที่กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ได้ กำหนดสิทธิ์ในการเผยแพร่งานลิขสิทธิ์เพลงเพื่อการค้าเป็นบริการควบคุม โดยให้ผู้ประสงค์จัดเก็บค่าลิขสิทธิ์แจ้งต้นทุนค่าใช้จ่าย หลักเกณฑ์ วิธีการ และอัตราการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ต่อ กกร. แต่ไม่เคยมีผลในทางปฏิบัติที่จะสามารถควบคุมอัตราจัดเก็บได้ตามที่ประกาศให้เป็นสินค้าควบคุม
การที่แต่ละค่ายเพลงอ้างว่าได้แจ้งราคาการจัดเก็บเป็นทางการกับทาง ก.ก.ร.ในอัตราหนึ่งแต่ได้มีการลดราคาจัดเก็บเป็นอีกราคาหนึ่งซึ่งต่อมาได้เพิ่มอัตราจัดเก็บมากกว่าเดิมแต่ไม่ได้จัดเก็บสูงกว่าที่ได้ยื่นไว้ เป็นคนละประเด็นกันกับการประกาศให้เป็นสินค้าควบคุมที่ต้องได้รับการควบคุมราคา ฉะนั้นประเด็นการขึ้นราคาจัดเก็บจากที่เคยจัดเก็บอยู่ จึงอยู่ในประเด็นที่เป็นการขึ้นราคาโดยพละการไม่มีการควบคุมจากภาครัฐ และเป็นประเด็นเดียวกันกับการจัดเก็บซ้ำซ้อนเพิ่มขึ้นอย่างไม่เป็นธรรมและเข้าลักษณะฉ้อฉลนั่นเอง ฉะนั้นการกล่าวอ้างถึงการขึ้นราคาไม่เกินจากอัตราที่ได้แจ้งไว้กับ ก.ก.ร.กับการแยกตัวออกมาจัดเก็บซ้ำซ้อนจึงอยู่ประเด็นเดียวกันกับการที่กรมการค้าภายในหรือ ก.ก.ร.ได้ประกาศเป็นสินค้าควบคุมที่ต้องได้รับการปฏิบัติให้เป็นผลในทางรูปธรรม
-3-
การจ่ายค่าเผยแพร่ลิขสิทธิ์ของผู้ประกอบการโดยเฉพาะคาราโอเกะประสพปัญหาตลอดมาหากการจ่ายค่าเผยแพร่ของผู้ใช้งานเพลงจ่ายเพียงครั้งเดียวโดยรวมทั้งสิทธิ์ครูและสิทธิ์ค่ายก็จะไม่เกิดความยุ่งยาก แต่ในปัจจุบันครูเพลงเจ้าของสิทธิ์แยกตัวออกมาตั้งบริษัทจัดเก็บเองซึ่งจัดเก็บซ้ำซ้อนจากที่เก็บอยู่ ผู้ใช้งานเพลงก็ต้องจ่ายเพิ่มอย่างไม่มีที่สิ้นสุด จนปัจจุบันต้องจ่ายแพงขึ้นถึงกว่า 3 เท่าตัว แต่ก็ยังไม่สามารถรอดพ้นจากการถูกจับดำเนินคดีจากเจ้าของสิทธิ์ เพราะผู้ใช้งานเพลงไม่ทราบว่าเพลงใดเป็นสิทธิ์ของใคร สาเหตุจากทางสำนักลิขสิทธิ์ไม่ได้มีการลงทะเบียนความเป็นเจ้าของสิทธิ์ที่ชัดเจน และระเบียบขั้นตอนการจัดเก็บเอื้อประโยชน์แก่เจ้าของสิทธิ์มากจนเกินขอบเขต ไม่สอดคล้องกับความรุนแรงของโทษการละเมิดสิทธิ์เผยแพร่ โดยเฉพาะการให้ข้อมูลกับผู้ใช้งานเพลงในการดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย ก็ไม่มีรูปธรรมในทางปฏิบัติ
พฤติกรรมการแยกตัวออกมาจัดเก็บหลายองค์กร ในทางปฏิบัติกลุ่มเพลงที่ได้รับความนิยมก็จะถูกกระจายออกไปในหลายๆองค์กรจัดเก็บ หากผู้ประกอบการเลือกใช้งานเพลง 1 ถึง 2 องค์กร เพลงที่ได้รับความนิยมก็จะน้อยลงผู้ใช้บริการก็มีโอกาสที่จะเลือกเพลงที่ต้องการน้อยลงทำให้รายได้ตกต่ำลงเป็นวงจรที่เป็นปฏิปักษ์ต่อธุรกิจของผู้ประกอบการเอง หากจะซื้อสิทธิ์ทุกองค์กรเพื่อให้เพลงมีครบตามความนิยม ผู้ประกอบการก็ต้องขาดทุนจนไม่สามารถจะอยู่รอดได้
จากผลกระทบในการจัดเก็บซ้ำซ้อนของเจ้าของสิทธิ์ที่เพลงหนึ่งอาจจัดเก็บซ้ำกัน 4-5 องค์กรโดยเฉพาะเพลงที่ได้รับความนิยม เป็นประเด็นของปัญหาการแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ประกอบการที่ไม่สามารถรับรู้ข้อมูลในเชิงลึกของแต่ละเจ้าของสิทธิ์ที่เป็นช่องว่างให้มีการมอบอำนาจของครูเพลงเจ้าของสิทธิ์แก่กลุ่มมิจฉาชีพในคราบของทีมจับ เพื่อจับกุมรีดไถผู้ใช้งานเพลงเป็นคดีความทั้งที่เปิดเผยและไม่เปิดเผยเป็นจำนวนมากหากจะคิดเป็นตัวเลขความเสียหายทางธุรกิจและสังคม ก็ไม่อาจประมาณค่าได้ การปฏิบัติในขั้นตอนการจับกุมที่รุนแรง และก้าวร้าวนำมาซึ่งปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ละเมิดต่อทรัพย์สินและสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างไร้ความเป็นธรรม
หากจะกล่าวโดยสรุปตามความเห็นของสมาพันธ์ฯ การแก้ปัญหาเพลงซ้ำซ้อนในปัจจุบันที่ผ่านมาของภาครัฐไม่อาจสัมฤทธิ์ผลในทางปฏิบัติได้ เพราะเป็นการแก้ไม่ตรงประเด็นของปัญหา ความอ่อนไหวในการเปลี่ยนแปลงของสิทธิ์ที่เกิดขึ้นโดยทันทีเพียงการมอบอำนาจของเจ้าของสิทธิ์ กับผลลัพย์ที่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการทางคดีอาญาอย่างกว้างขวางในทางปฏิบัติ การไล่ตรวจสอบเพลงซ้ำซ้อนที่ทำอยู่ในปัจจุบันไม่อาจ เท่าทันกับสถานะการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เนื่องด้วยระบบเพลงมีจำนวนเป็นแสนเพลงในระบบ โดยข้อเท็จจริงที่ผ่านมาครูเพลงเจ้าของสิทธิ์ได้แจ้งความดำเนินคดีกับผู้ประกอบการที่ใช้แผ่นของบริษัทที่ครูเพลง ไม่ได้เป็นเจ้าของสิ่งบันทึกเสียง เพราะโดยปรกติครูเพลงเจ้าของสิทธิ์ดนตรีกรรมจะไม่ได้เป็นผู้ผลิตหรือเจ้าของสิทธิ์สิ่งบันทึกเสียงหรือแผ่นวีซีดี ฉนั้นจากข้อเท็จจริงดังกล่าวการห้ามจับเพลงบนแผ่นของผู้อื่นจึงเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงประเด็นที่สุด
-4-
เพราะผู้ใช้งานเพลงที่จ่ายค่าสิทธิ์เผยแพร่แก่ค่ายเพลงเจ้าของสิทธิ์สิ่งบันทึกเสียงอย่างถูกต้องจึงไม่ควรได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งของเจ้าของสิทธิ์ทั้งหมดที่มีอยู่ในแผ่น เพราะขาดเจตนาในการละเมิด ปัญหาความขัดแย้งระหว่างเจ้าของสิทธิ์เป็นปัญหาภายในของเจ้าของสิทธิ์ไม่ใช่ปัญหาของผู้ใช้งานลิขสิทธิ์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย
ในส่วนของค่ายเพลงที่เป็นผู้บริหารจัดเก็บมาแต่เดิม ภายหลังจากมีการแยกตัวออกมาจัดเก็บของเจ้าของสิทธิ์ดนตรีกรรม แต่ก็ยังคงจัดเก็บผู้ใช้งานเพลงในราคาเดิมอย่างต่อเนื่องทั้งที่ไม่มีการแบ่งปันในส่วนของครูเพลงเจ้าของสิทธิ์ที่เคยได้รับ แต่ต่อมาภายหลังยังได้มีการขึ้นราคาการจัดเก็บอีก ทำให้ผู้ประกอบการถูกเอารัดเอาเปรียบไม่ได้รับความเป็นธรรมเข้าลักษณะการผูกขาดทางการค้า ฉะนั้นส่วนเกินจากการจัดเก็บอย่างไม่เป็นธรรมนี้ ทางภาครัฐจะดำเนินการอย่างไรกับความฉ้อฉลดังกล่าว
จากกรณีดังกล่าวในประเด็นของการจัดเก็บลิขสิทธิ์ที่สมาพันธ์ฯ เรียนเสนอมาขอให้ฯพณฯท่านได้โปรดพิจารณาทบทวนการแก้ปัญหาเพื่อให้การจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ดำเนินไปอย่างถูกครรลองคลองธรรม โดยสมาพันธ์ฯ ได้แนบเอกสารรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบในการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เผยแพร่ พร้อมกับข้อเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหามาพร้อมกับหนังสือฉบับนี้
ขอได้โปรดรับทราบและโปรดพิจารณา
ด้วยความเคารพเป็นอย่างสูง
คณะกรรมการสมาพันธ์คาราโอเกะแห่งประเทศไทย
ข้อเสนอในการแก้ปัญหาการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ซ้ำซ้อน
1 ห้ามไม่ให้มีการจัดเก็บและจับกุมดำเนินคดีการละเมิดสิทธิ์เผยแพร่บนแผ่นเพลงที่ตนเองไม่ได้เป็นผู้ผลิตหรือไม่ได้เป็นเจ้าของในสิทธิ์สิ่งบันทึกเสียง หรือห้ามจัดเก็บและจับกุมในแผ่นเพลงที่มีสิทธิ์ซ้ำซ้อนกัน
2 กรณีการจับกุมเพลงละเมิดสิทธิ์เผยแพร่ให้ยึดเฉพาะแผ่นเพลงที่ละเมิดเท่านั้นในส่วนประกอบอื่นๆให้อายัดไว้ที่ร้านค้าเพื่อจะสามารถทำการค้าได้ต่อเนื่อง เป็นการลดผลกระทบทางธุรกิจการค้าและผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งยังคุ้มครองสิทธิ์เผยแพร่ที่มีอยู่ของบริษัทอื่นๆทีไม่มีความขัดแย้งเรื่องของสิทธิ์เผยแพร่
3 กรณีการจับกุมดำเนินคดีละเมิดสิทธิ์เผยแพร่หลังจากรับแจ้งแล้วให้มีการตรวจสอบความชัดเจนก่อนจึงค่อยดำเนินการในขั้นตอนแจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ถูกกล่าวหา การพิสูจน์หลักฐานให้ชัดเจนก่อนดำเนินคดีเป็นประเด็นที่จะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
4 การประกันตัวผู้ถูกกล่าวหาขอให้กำหนดขั้นต่ำค่าประกันตัวรายละ 5,000 บาทหากเป็นสมาชิกของสมาพันธ์องค์กรผู้ใช้งานลิขสิทธิ์ไทยโดยสมาพันธ์ฯ จะทำหน้าที่ประสานความร่วมมือในการดำเนินคดีทุกขั้นตอน
5 ให้ภาครัฐจัดตั้งกองทุนเพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในการบังคับจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลงโดยเฉพาะเช่นกรณีที่ผู้ประกอบการถูกดำเนินคดีโดยไม่เป็นธรรม ให้มีการช่วยเหลือทางคดีและให้มีการชดเชยความเสียหายแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบอย่างไม่เป็นธรรม โดยองค์กรหรือสมาคมที่เชี่ยวชาญด้านกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา
6 ให้มีการจัดตั้งคณะทำงานประสานงานเพื่อแก้ไขปัญหากรณีจัดเก็บซ้ำซ้อน เพื่อแก้ไขเยียวยาปัญหาเฉพาะหน้า ทั้งจัดให้มีการเจรจาระหว่างตัวแทนเจ้าของสิทธิ์และผู้ใช้งานเพลง เจ้าหน้าที่รัฐ และองค์กรหรือสมาคมฝ่ายกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา โดยยึดถือหลักการแสวงหาความร่วมมือด้วยความสมัครใจ
7 จัดให้มีการประชุมสัมนาเรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์ เพื่อให้ข้อมูลและสท้อนปัญหาในการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์โดยประสานความร่วมมือระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติและสมาพันธ์องค์กรผู้ใช้งานลิขสิทธิ์ไทย ในทุกระดับอย่างทั่วถึง เพื่อขยายความร่วมมือในระดับองค์กรเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการและแลกเปลี่ยนข้อมูล
นาย พรชัย ศิรินุกูลชร เลขาธิการฯ ผู้จัดทำรายงาน 22/12/49
|