ตัวอย่างคดี เรื่องความผิดต่อพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์
ระหว่าง พนักงานอัยการจังหวัดระยองเป็นฝ่ายโจทย์ และนายชาติชาย ศรีธารามเป็นจำเลย
โจทย์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2546 จำเลยได้ละเมิดลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์ประเภท งานดนตรีกรรม และโสตทัศนวัสดุ ของบริษัท อาร์.เอส.โปรโมชั่น 1992 จำกัด ผู้เสียหาย ซึ่งจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย ที่ประเทศไทยและมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทยตลอดระยะเวลาในการสร้างสรรค์ ซึ่งผู้เสียหายเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ในฐานะเป็นผู้สร้างสรรค์โดยเป็นผู้ทำหรือก่อให้เกิดงานสร้างสรรค์ประเภทงานดนตรีกรรม สิ่งบันทึกเสียงและโสตทัศนวัสดุตามหนังสือรับรองลิขสิทธิ์ท้ายฟ้อง โดยการนำเอาแผ่นวีซีดี ที่มีผู้อื่นทำซ้ำหรือดัดแปลง นำสิ่งบันทึกเสียงและโสตทัศนวัสดุ ที่มีคำร้อง ทำนอง เสียงเพลงและเนื้อร้องคาราโอเกะงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายออกเผยแพร่ต่อสาธารณชน ที่ร้านซุ้มน้าชาติคาราโอเกะ ตำบลมาบตาพุฒ อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยองโดยเปิดงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายที่บรรจุในแผ่นวีซีดี ผ่านทางตู้เพลงวีซีดีคาราโอเกะ ซึ่งเครื่องจะอ่านข้อมูล แล้วทำการแปลงสัญญาณดิจิตอลให้ปรากฏเสียงทำนองเพลง ออกทางลำโพง และเชื่อมสัญญาณให้ปรากฏภาพคำร้องออกทางจอมอนิเตอร์ แล้วให้บริการคาราโอเกะแก่ลูกค้าหยอดเหรียญซึ่งเป็นสาธารณชน เพื่อประโยชน์ในทางการค้าและแสวงหากำไรโดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นการทำละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายและโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหาย อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฏหมาย เหตุเกิดที่ตำบลมาบตาพุต อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง ตามวันเวลาดังกล่าวในฟ้อง เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมยึดแผ่นวีซีดีที่บรรจุเพลงคาราโอเกะที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย จำนวน 4 แผ่นเป็นของกลางขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์พ.ศ.2537 มาตรา 4,6,8,15,27,29,31,69,70,75,76 ขอให้ริบของกลาง ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ และขอให้จ่ายเงินค่าปรับฐานละเมิดลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งแก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
จำเลยให้การปฏิเสธ
ทางการพิจารณานำสืบว่า บริษัท อาร์.เอส โปรโมชั่น 1992 จำกัด ผู้เสียหาย ได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทอาร์.เอส โปรโมชั่น จำกัด และต่อมาได้เปลี่ยนเป็นบริษัท อาร์.เอส โปรโมชั่น จำกัด(มหาชน) ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.1 บริษัท อาร์.เอส โปรโมชั่น จำกัด(มหาชน)ได้มอบอำนาจให้บริษัทจัดเก็บลิขสิทธิ์ไทย จำกัด เป็นผู้ดูแลบริหารสิทธิและปกป้องงานอันมีลิขสิทธิ์ ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.2,จ.3 บริษัท จัดเก็บลิขสิทธิ์ไทย จำกัด ได้รับสิทธิจากบริษัท อาร์.เอส โปรโมชั่นฯในเรื่องสิทธิเผยแพร่และสิทธิทำซ้ำ และบริษัท จัดเก็บลิขสิทธิ์ไทย จำกัด ได้มอบอำนาจให้ว่าที่ร้อยตรีสุทธิศักดิ์ ประศาสน์ครุการ ดำเนินการอีกทอดหนึ่ง ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.4,จ.5 และว่าที่ร้อยตรีสุทธิศักดิ์ ประศาสน์ครุการ ดำเนินการอีกทอดหนึ่ง ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.6 เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2546 นายพฤกษ์ พฤกษ์สุนันท์ ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจจาก บริษัท จัดเก็บลิขสิทธิ์ไทย จำกัด
ได้ไปตรวจสอบการละเมิดลิขสิทธิ์ ที่ร้านน้าชาติ ที่อำเภอมาบตาพุฒ จังหวัดระยอง โดยก่อนหน้านั้นก็ได้ไปใช้บริการที่ร้านดังกล่าวมาแล้ว และพบว่ามีการเอาเพลงใส่ในตู้เพลงและให้บริการตู้หยอดเพลง นายพฤกษ์ได้ใช้บริการในวันเดียวกันที่ทำการจับกุมคือวันที่ 23 พฤษภาคม 2546 โดยไปที่ร้านดังกล่าวในเวลาประมาณ 6 โมงเศษ เมื่อเห็นว่ามีการละเมิดลิขสิทธิ์โดยเห็นว่าที่ตู้ดังกล่าว ไม่มีใบอนุญาตให้ใช้สิทธิ ต่อมาในเวลาประมาณ 1 ทุ่ม นายพฤกษ์จึงได้ไปร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำบลมาลตาพุฒ และพาเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าทำการจับกุมในเวลาประมาณ 2 ทุ่ม ในขณะที่ทำการจับกุมนั้น ร้านของจำเลยกำลังเปิดเพลง ขอเลวแค่นี้ ซึ่งเป็นเพลงของปาน ธนพร แวกประยูร และเป็นผลงานเพลงของผู้เสียหาย โดยไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิเผยแพร่งานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายต่อสาธารณชนโดยร้านอาหารดังกล่าวได้ละเมิดลิขสิทธิ์ อัลบั้มปาน ทรู สตอรี่ ความรัก ผู้ชาย ปลาย่าง และอัลบั้มปานเลิฟซีรี่ส์ โดยศิลปิน ธนพร แวกประยูร ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.7 และ จ.8 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการจับกุมและได้พบว่ามีการละเมิดงานอันมีลิขสิทธิ์โดยใช้ตู้เพลงหยอดเหรียญ ซึ่งเป็นเพลงอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหาย
เมื่อมีการจับกุมแล้ว จำเลยได้แสดงว่าเป็นเจ้าของร้าน จำเลยไม่ได้แสดงหลักฐานว่ามีการได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิของผู้เสียหาย ในการจับกุมได้มีการตรวจค้นและพบรายชื่อเพลงด้วย ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.10 และเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตรวจสอบตู้เพลง พบแผ่นซีดีคาราโอเกะของบริษัท ผู้เสียหายในตู้เพลงดังกล่าว จำนวน 4 แผ่น ปรากฎตามวัตถุพยานหมาย วจ.1,วจ.2 จึงจับกุมและแจ้งข้อหาแก่จำเลยว่าละเมิดลิขสิทธิ์ผู้อื่นเพื่อการค้า เผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานดนตรีกรรม สิ่งบันทึกเสียงในชั้นจับกุมจำเลยให้การรับสารภาพ ปรากฏตามบันทึกการจับกุม เอกสารหมาย จ.11 ต่อมาได้นำตัวจำเลยไปที่สถานีตำรวจภูธร ตำบลมาบตาพุฒ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำบัญชีของกลางไว้ ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.12 ในระหว่างที่อยู่ที่สถานี่ตำรวจนั้น ไม่มีผู้ใดมาอ้างว่าเป็นเจ้าของตู้ และไม่มีผู้ใดมาอ้างว่าเป็นผู้มีสิทธิใช้ลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายแต่อย่างใด
จำเลยนำสืบว่า เมี่อวันที่ 15 มกราคม 2546 นางสมาน รติยาณุวัฒน์ เป็นเจ้าของร้านค้าชื่อร้านท๊อปมิวสิคและเป็นเจ้าของตู้คาราโอเกะที่ถูกยึดในคดีนี้ ได้นำตู้เพลงคาราโอเกะไปว่าไว้ที่ร้านซุ้มน้าชาติซึ่งเป็นร้านขายอาหารของจำเลย และได้ทำสัญญาฝากตู้คาราโอเกะกับจำเลย โดยจะช่วยชำระค่าไฟให้จำเลย ปรากฏตามเอกสารหมาย ปล.1 รวมทั้งเป็นคนไขกุญแจเพื่อเก็บเงินในตู้คาราโอเกะด้วยเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2546 เวลาประมาณทุ่มเศษได้มีบุคคลประมาณ 4 ถึง 5 คน เข้ามาสั่งอาหารและเครื่องดื่มที่ร้านซุ้มน้าชาติ แล้วเดินไปเปิดเพลงที่ตู้เพลง เป็นเพลงที่ ปานธนพร ะป็นผู้ขับร้อง จากนั้นบุคคลกลุ่มดังกล่าว แจ้งว่าเป็นคนของบริษัทที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เพลง ได้แจ้งว่าจำเลยทำผิดข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ จะยึดตู้เพลง จำเลยจึงบอกว่าขอติดต่อเจ้าของตู้เพลงคือร้านท้อปมิวสิค แต่ติดต่อไม่ได้ บุคคลดังกล่าวจึงยึดตู้เพลงไปที่สถานีตำรวจภูธรตำบลมาบตาพุฒ
เมื่อจำเลยไปที่สถานีตำรวจภูธรตำบลมาบตาพุฒ จำเลยได้บอกเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า ตู้เพลงเป็นของร้านท็อปมิวสิค ขอติดต่อก่อนแต่ก็ติดต่อไม่ได้เจ้าพนักงานตำรวจจึงให้จำเลยลงลายมือชื่อในกระดาษแผ่นหนึ่งว่าเป็นเจ้าของร้าน ซึ่งจำเลยได้ทราบภายหลังว่าเป็นบันทึกการจับกุม ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.11 ต่อมาจำเลยได้ติดต่อกับนางสมาน รติยาณะวัฒน์ เจ้าของร้านท็อปมิวสิค และนางสมานได้มาพบพนักงานสอบสวนโดยได้แสดงหลักฐานว่าเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิจากเจ้าของสิทธิ์เพลง คือแผ่นสติกเกอร์ ปรากฏตามเอกสาร ล.1 และใบโอนเงินให้กับบริษัท จัดเก็บลิขสิทธิ์ไทย จำกัด ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.2 ภายหลังจากที่เจ้าของร้านท๊อปมิวสิค ได้นำเอกสารดังกล่าวมาแสดงแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจได้บอกให้จำเลยกันนางสมาน ไปติดต่อกับบริษัท จัดเก็บลิขสิทธิ์ไทย จำกัดเอง
ตามเอกสารใบโอนเงินเอกสารหมาย ล.2 นั้น นางสมานได้โอนเงินเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2549 แต่บริษัท จัดเก็บลิขสิทธิ์ไทย จำกัด ได้ส่งสติกเกอร์ ในอนุญาตว่าได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิจากเจ้าของลิขสิทธิ์เพลง เอกสารหมาย ล.1 มาให้นางสมาน เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2546 ซึ่งเป็นวันที่ภายหลังจากจำเลยถูกจับกุมแล้ว ตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2546 แต่นางสมานได้โอนเงินก่อนวันที่จำเลยถูกจับ โดยโอนเงินจำนวน 8,700 บาท เป็นค่าใบอนุญาตใช้สิทธิตู้คาราโอเกะ จำนวน 10 ตู้ ซึ่งใบอนุญาตตู้คาราโอเกะตู้ละ 870 บาท ตู้คาราโอเกะที่ถูกยึดในคดีนี้ได้ชำระเงินค่าใบอนุญาตรวมอยู่ในใบโอนเงินจำนวน 8,700 บาท ตามเอกสารหมาย ล.2 ด้วย
ซึ่งบริษัทผู้เสียหายเคยแจ้งว่า หากมีใบโอนเงินให้กับบริษัท จัดเก็บลิขสิทธิ์ไทย จำกัดแล้ว แม้จะยังไม่ได้รับใบอนุญาตจากบริษัทก็ใช้ตู้เพลงคาราโอเกะได้ และสติกเกอร์ใบอนุญาต ตามเอกสารหมาย ล.1 ที่จะต้องใช้ติดกับตู้คาราโอเกะที่ถูกยึดในคดีนี้ ส่งมาล่าช้า โดยส่งมาหลังจากที่จำเลยถูกจับกุมและเจ้าพนักงานได้ยึดตู้คาราโอเกะไปแล้วพิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยเปิดร้านอาหารชื่อ ร้านซุ้มน้าชาติและในร้านอาหารของจำเลยมีตู้เพลงให้บริการตู้หยอดเพลงคาราโอเกะ ซึ่งในตู้เพลงมีแผ่นวีซีดีคาราโอเกะให้บริการเพลงขอเลวแค่นี้
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า จำเลยได้กระทำความผิดตามที่โจทย์ฟ้องหรือไม่ในประเด็นนี้ ศาลเห็นควรวินิจฉัยก่อนว่า จำเลยได้บังอาจละเมิดลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์ประเภทงานดนตรีกรรม สิ่งบันทึกเสียงและโสตทัศนวัสดุของผู้เสียหาย โดยการนำแผ่นวีซีดีคาราโอเกะที่มีผู้อื่นทำซ้ำหรือดัดแปลง นำสิ่งบันทึกเสียงและโสตทัศนวัสดุที่มีคำร้อง ทำนอง เสียงเพลงและเนื้อร้อง อันเป็นลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย ออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนที่ร้านซุ้มน้าชาติคาราโอเกะ ตำบลมาบตาพุฒ อำเภอเมืองจังหวัดระยอง โดยให้บริการคาราโอเกะ แก่ลูกค้าโดยการหยอดเหรียญเพื่อประโยชน์ในทางการค้าและแสวงหากำไร
โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่า เป็นการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายหรือไม่ในประเด็นนี้ โจทก์ไม่มีพยานมาสืบเลยว่า แผ่นซีดีของกลางหมาย วจ.1 และวจ.2 เป็นงานที่ได้มีผู้ซึ่งทำซ้ำหรือดัดแปลง โดยมีเนื้อร้อง ทำนอง เสียงเพลง ซึ่งเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายแต่อย่างใดทั้งโจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นถึงความแตกต่างของ ของกลางหมาย วจ.1 และวจ.2 ว่ามีความแตกต่างกันเหมือนหรือคล้ายกันกับแผ่นวีซีดีคาราโอเกะซึ่งเป็นของแท้ที่มิได้มีการทำซ้ำหรือดัดแปลงของผู้เสียหายแต่อย่างใด อันจะทำให้ศาลได้ใช้ดุลยพินิจพิพากษาคดีด้วยความยุติธรรมได้ว่า แผ่นวีซีดีคาราโอเกะของกลางหมาย วจ.1 และ วจ.2 เป็นของกลางที่มีผู้อื่นทำซ้ำหรือดัดแปลงจากแผ่นวีซีดีคาราโอเกะของผู้เสียหาย
เมื่อโจทก์มิได้นำสืบพยานหลักฐานดังกล่าว ศาลก็ไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์โดยการนำแผ่นวีซีดีคาราโอเกะที่มีผู้อื่นทำซ้ำ หรือดัดแปลง ซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย ออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนเพื่อการค้าหรือหากำไรได้ ข้อเท็จจริงจึงไม่อาจรับฟังได้ว่า แผ่นวีซีดีคาราโอเกะของกลางหมาย วจ.1 และวจ.2 เป็นแผ่นวีซีดีคาราโอเกะที่มีผู้อื่นทำซ้ำหรือดัดแปลงจากงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย แผ่นวีซีดีคาราโอเกะของกลางจึงเป็นแผ่นวีซีดีคาราโอเกะที่ได้มีการทำขึ้นเพื่อขายหรือจำหน่ายต่อบุคคลทั่วไป โดยมิได้มีการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่าจำเลยได้ละเมิดลิขสิทธิ์อับบั้ม ปาน ทรู สตอรี่ ความรัก ผู้ชาย ปลาย่าง และอัลบั้ม ปานเลิฟ ซีรี่ส์ของศิลปิน ธนพร แวกประยูร โดยการนำอัลบั้มเพลงของกลางหมาย วจ.1 และวจ.2 ออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนที่ร้านอาหารซุ้มน้าชาติคาราโอเกะ ผ่านทางตู้วีซีดีคาราโอเกะ เพื่อแปลงสัญญาณดิจิตอลให้ปรากฏเสียง ทำนองเพลงออกทางลำโพงเชื่อมสัญญาณให้ปรากฏภาพคำร้องออกทางจอโมนิเตอร์ เพื่อให้ลูกค้าหยอดเหรียญใช้บริการคาราโอเกะ เพื่อประโยชน์ในทางการค้า แสวงหากำไร อันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายหรือไม่
ในประเด็นนี้เมื่อข้อเท็จจริงโจทก์นำสืบไม่ได้ว่า แผ่นวีซีดีของกลางเป็นแผ่นวีซีดีที่มิได้มีการทำซ้ำหรือดัดแปลง อันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย หรือจำเลยได้มาซึ่งความเป็นเจ้าของหรือการครอบครองแผ่นวีซีดีของกลางโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วยประการใดแล้ว แผ่นวีซีดีคาราโอเกะของกลางจึงเป็นสินค้าหรือของที่มีขายหรือจำหน่ายโดยทั่วไป จำเลยในฐานะเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองแผ่นวีซีดีคาราโอเกะ จึงมีสิทธิ์ที่จะจัดการใช้สอย ซึ่งทรัพย์สินที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองจะพึงมีอยู่ตามกฎหมายได้ สิทธิในความเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองแผ่นวีซีดีคาราโอเกะ ซึ่งมีสิทธิที่จะจัดการใช้สอยได้ตามกฎหมาย กับสิทธิในการปกป้องการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายที่จะปกป้องการเผยแพร่ผลงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายซึ่งมีโทษอาญานั้น การใช้สิทธิของทั้งสองฝ่ายจึงเป็นเส้นแบ่งขีดความมีสิทธิของการกระทำและความรับผิดชอบของแต่ละฝ่าย
ศาลจึงต้องพินิจพิจารณาถึงสิทธิของแต่ละฝ่ายด้วยความระมัดระวังอย่างที่สุด เพราะการมีสิทธิในทรัพย์สินของแต่ละฝ่ายนั้น ต่างก็มีกฎหมายรองรับหากไม่พิจารณาให้ถ่องแท้แล้ว ความไม่เป็นธรรมย่อมเกิดขึ้นได้ การสร้างสรรค์ศิลปดนตรีกรรม ศิลปกรรมโสตทัศนวัสดุ และศิลปกรรมสิ่งบันทึกเสียงโดยทำเป็นแผ่นวีซีดี วีซีดีคาราโอเกะขายให้แก่บุคคลทั่วไปนั้น ก็โดยมีวัตถุประสงค์ให้บริการในรูปของความบันเทิง เพื่อให้สามารถนำมาเล่นซ้ำได้ และการทำเป็นวีซีดีคาราโอเกะ ก็เพื่อให้บริการความบันเทิงมิใช่แต่เฉพาะการรับฟังเสียงเพลง เสียงดนตรี เท่านั้นแต่ยังให้บริการถึงความบันเทิงการฝึกฝนทักษะ การร้องเพลงของผู้ที่ประสงค์จะหาความบันเทิงโดยการแสดงออกด้วยการร้องเพลง โดยอาศัยเสียงดนตรีประกอบเป็นจังหวะทำนอง ประกอบคำร้อง อันเป็นการให้บริการความบันเเทิงชนิดหนึ่งด้วย และวีซีดีคาราโอเกะของกลาง เป็นวีซีดีที่มีเสียงดนตรีซึ่งเป็นทำนองเพลงและมีคำร้องหรือเนื้อร้องเป็นตัวอักษรหนังสือวิ่ง แสดงออกทางจอมอนิเตอร์ พร้อมเสียงดนตรี เมื่อนำมาใช้กับเครื่องเล่นคาราโอเกะ การสร้างสรรค์งานศิลปดนตรีกรรมในรูปของวีซีดีคาราโอเกะนั้นก็เพื่อให้บริการความบันเทิงเพื่อการร้องเพลงหรือเพื่อการฝึกฝนทักษะการร้องเพลงของตนเอง
การทำวีซีดีคาราโอเกะออกขายหรือจำหน่ายแก่บุคคลทั่วไป ก็โดยวัสดุประสงค์ดังกล่าวของเจ้าของลิขสิทธิ์ การที่จำเลยมีร้านขายอาหารและเปิดให้บริการในรูปของคาราโอเกะในร้านอาหาร ก็เป็นการให้บริการความบันเทิงตามวัตถุประสงค์ของผู้สร้างสรรค์ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ดังนั้นการที่จำเลยนำแผ่นวีซีดีซึ่งเป็นผลงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย ให้บริการคาราโอเกะในร้านอาหารของจำเลย ย่อมเป็นการกระทำอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลย หาได้เป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดต่องานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายไม่ส่วนการปกป้องสิทธิของผู้เสียหายนั้น โจทก์มีนายพฤกษ์ พฤกษ์สุนันท์ ผู้รับมอบอำนาจช่วงจากบริษัท จัดเก็บลิขสิทธิ์ไทย จำกัด เบิกความเป็นพยานว่า
เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2546 พยานได้ตรวจสอบการละเมิดลิขสิทธิ์ที่ร้านของจำเลย โดยก่อนหน้านั้นพยานได้ไปใช้บริการที่ร้านดังกล่าว และพบว่ามีการเอาเพลงใส่ในตู้เพลงและให้บริการตู้หยอดเพลง พยานได้ใช้บริการในวันเดียวกับที่ทำการจับกุม คือวันที่ 23 พฤษภาคม 2546 นั้นเอง โดยพยานไปที่ร้านดังกล่าวในเวลา 2 โมงเย็น เมื่อเห็นว่ามีการละเมิดลิขสิทธิ์โดยเห็นว่าที่ตู้เพลงดังกล่าวไม่มีใบอนุญาตให้ใช้สิทธิ์ติดอยู่ที่ตู้เพลง ต่อมาในเวลาประมาณ 1 ทุ่มพยานจึงได้ไปร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ และพาเจ้าหน้าที่ตำรวจทำการจับกุมในเวลาประมาณ 2 ทุ่ม
โดยไม่ได้ขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจออกหมายค้นแต่อย่างใด และพยานเบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่าในการไปตรวจสอบนั้นพยานเป็นผู้หยอดเหรียญเปิดเพลงของผู้เสียหายเอง กับเบิกความตอบพนักงานอัยการโจทก์ถามติงว่า ที่พยานไปร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้น เพราะพยานเป็นผู้หยอดเหรียญใช้บริการเพลงของผู้เสียหายเอง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ในการไปร้องทุกข์ของผู้รับมอบอำนาจของผู้เสียหายนั้นเพราะผู้รับมอบอำนาจได้ไปตรวจสอบแล้วเห็นว่า ตู้คาราโอเกะมีแผ่นเพลงวีซีดีของผู้เเสียหายให้บริการอยู่ในตู้เพลงและพร้อมที่จะให้บริการแก่ลูกค้าใช้บริการเพลงของผู้เสียหาย โดยบนตู้คาราโอเกะไม่มีสติกเกอร์อนุญาตให้ใช้สิทธิติดอยู่
การติดสติกเกอร์อนุญาตให้ใช้สิทธิ์นั้น ปรากฏจากคำเบิกความของว่าร้อยตรีสุทธิศักดิ์ ประศาสน์ครุการ ผู้รับมอบอำนาจจากบริษัทจัดเก็บลิขสิทธิ์ไทย จำกัดซึ่งได้รับมอบอำนาจจากผู้เสียหายให้เป็นผู้ดูแลบริหารและปกป้องงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายว่า เป็นแนวทางการบริหารงานการจัดเก็บลิขสิทธิ์ โดยผู้ประกอบการที่มีตู้คาราโอเกะและใช้เพลงของผู้เสียหายจะต้องมาขออนุญาตจากบริษัทจัดเก็บลิขสิทธิ์ไทย จำกัด และบริษัทจัดเก็บลิขสิทธิ์ไทย จำกัด จะออกสติกเกอร์อนุญาตให้ใช้เพลงตามเอกสารหมาย จ.9 ให้ โดยผู้ใช้เพลงจะต้องนำสติ กเกอร์ไปติดไว้บนตู้คาราโอเกะ การติดสติกเกอร์อนุญาตให้ใช้สิทธิ จึงเป็นเพียงเงื่อนไขของการอนุญาตให้ใช้สิทธิ ที่ผู้ใช้สิทธิจะต้องแสดงหลักฐานการใช้สิทธิไว้ที่ตู้คาราโอเกะ
จึงไม่ใช่เป็นการกระทำความผิดอาญาในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายและการไม่ติดสติกเกอร์ให้ใช้สิทธิ บนตู้คาราโอเกะ มิใช่เป็นองค์ประกอบของความผิดอาญาในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ ความผิดอาญาการละเมิดลิขสิทธิ์ในคดีนี้ คือการไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าขอบสิทธิ์ให้ทำการเผยแพร่ต่อสาธารณชน การที่มีผู้รับมอบอำนาจจากผู้เสียหายเห็นตู้คาราโอเกะในร้านอาหาร มีเพลงของผู้เสียหายและไม่เห็นสติกเกอร์ติดอยู่ที่ตู้คาราโอเกะ ก็ไม่ได้หมายความว่า จำเลยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ให้ทำการเผยแพร่ต่อสาธารณชนหาได้ไม่ การที่ผู้รับมอบอำนาจของผู้เสียหายตรวจสอบแล้วเห็นว่า ตู้คาราโอเกะที่ร้านของจำเลยไม่ได้ติดสติกเกอร์อนุญาตให้ใช้สิทธิแล้วเข้าร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจ โดยกล่าวหาว่าจำเลยกระทำละเมิดสิทธิ์โดยนำเนื้อร้อง ทำนองเพลง ซึ่งเป็นงานดนตรีกรรมที่บรรจุอยู่ในสิ่งบันทึกเสียง โสตทัศนวัสดุ (วีซีดี) บรรจุในตู้เพลงวีซีดีคาราโอเกะ และนำออกให้บริการกับประชาชนโดยทั่วไป เพื่อผลประโยชน์ในงานเพลง โดยคิดในอัตราค่าบริการเพลงละ 5 บาท
การกระทำดังกล่าวนั้นได้กระทำมาเป็นระยะเวลานานและไม่ได้รับอนุญาตในการเผยแพร่จากผู้เสียหายทำให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นการให้บริการของผู้เสียหายเป็นผู้จัดทำขึ้นโดยถูกต้องและเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายนั้น จึงเป็นการร้องทุกข์ที่ไม่ชอบ เพราะไม่ปรากฏลักษณะแห่งความผิด พฤติการณ์ต่างๆที่ความผิดนั้นได้กระทำลง ความเสียหายที่ได้รับ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 123 วรรคสอง การที่จำเลยบรรจุแผ่นวีซีดีเพลงซึ่งเป็นสินค้าที่ผู้เสียหายได้ผลิตงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายและนำออกจำหน่ายโดยทั่วไปเพื่อใช้ในตู้คาราโอเกะ เพื่อให้บริการกับประชาชนโดยการหยอดเหรียญในร้านอาหารของจำเลยโดยมิได้ติดสติกเกอร์ให้ใช้สิทธิ์ หาได้เป็นการกระทำความผิดอาญาฐานละเมิดงานอันมีลิขสิทธิ์โดยการเผยแพร่ต่อสาธารณชนแต่อย่างใดไม่
จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองแผ่นวีซีดีคาราโอเกะโดยชอบด้วยกฎหมาย ย่อมมีสิทธิที่จะกระทำการดังกล่าวได้ และยังไม่เกิดการกระทำอันเป็นการเผยแพร่ต่อสาธารณชนโดยไม่ได้รับอนุญาตแต่อย่างใด ทั้งยังไม่เป็นที่แน่นอนว่าจะมีการเผยแพร่งานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายต่อสาธารณชนไม่ ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับลูกค้าว่ามีความประสงค์จะใช้บริการเพลงคาราโอเกะหรือไม่ และจะใช้บริการเพลงคาราโอเกะไปในรูปแบบใด ซึ่งยังไม่ปรากฎการกระทำของจำเลยเพียงแต่อยู่ในขั้นตระเตรียม ซึ่งยังไม่เป็นความผิดอาญาเกิดขึ้นที่ผู้รับมอบอำนาจของผู้เสียหายจะมีสิทธิร้องทุกข์ได้ พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจในการสอบสวนแม้จะปรากฏข้อเท็จจริงในการนำสืบของโจทก์ว่าผู้รับมอบอำนาจของผู้เสียหายได้ใช้บริการเพลงคาราโอเกะในร้านจำเลยโดย
นายพฤกษ์ พฤกษ์สุนันท์ ได้เบิกความตอบพนักงานอัยการโจทก์ถามติงว่า ที่พยานร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจนั้น เพราะพยานเป็นผู้หยอดเหรียญใช้บริการเพลงของผู้เสียหายเอง ก็หาใช่เป็นเรื่องที่จำเลยได้กระทำความผิดในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ โดยการเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาตไม่ แต่เป็นเรื่องที่ผู้รับมอบอำนาจของผู้เสียหายได้หยอดเหรียญใช้บริการเอง เพราะต้องการจะตรวจว่าตู้คาราโอเกะที่ร้านของจำเลยนั้น มีเพลงอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายหรือไม่ การหยอดเหรียญใช้บริการของผู้รับมอบก็โดยมีเจตนาที่จะตรวจสอบว่ามีเพลงของผู้เสียหายหรือไม่ หาได้มีเจตนาที่จะเผยแพร่งานอันมีลิขสิทธิ์ต่อสาธารณชนแต่อย่างใด เพราะการเผยแพร่ต่อสาธารณชนนั้นกฎหมายบัญญัติให้หมายความว่า ทำให้ปรากฏต่อสาธารณชน โดยการแสดง การบรรยาย การสวด การบรรเลง การทำให้ปรากฏด้วยเสียง และหรือภาพ การก่อสร้าง การจำหน่าย หรือโดยวิธีอื่นใด ซึ่งงานที่ได้จัดทำขึ้น
การที่ผู้รับมอบอำนาจของผู้เสียหายประสงค์จะตรวจสอบว่า ตู้คาราโอเกะในร้านของจำเลยมีเพลงอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายหรือไม่ ไม่ว่าการเปิดเพลงของผู้รับมอบอำนาจของผู้เสียหายนั้น จะได้กระทำไปเพื่อการรับฟังเพลงหรือเพื่อการร้องเพลงตามทำนองเนื้อร้องและเสียงดนตรีก็ตาม ก็หาใช่เป็นเรื่องที่จำเลยได้กระทำการเผยแพร่ต่อสาธารณชน ซึ่งเพลงอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายไม่ การหยอดเหรียญเพื่อเปิดเพลงของผู้รับมอบอำนาจของผู้เสียหาย เพื่อตรวจสอบงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย จึงไม่ใช่เป็นการกระทำความผิดอาญาของจำเลยในการเผยแพร่งานอันมีลิขสิทธิ์ต่อสาธารณชนแต่อย่างใด พยานหลักฐานเท่าที่โจทก์นำสืบยังไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง
พิพากษายกฟ้องโจทก์ คืนของกลางให้แก่เจ้าของ
พรชัย ศิรินุกูลชร pornchai@bangbuathong.org
go back
|