
การนำทรัพย์สินทางปัญญาไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์
ผู้เขียน คุณ ชยธวัช อติแพทย์
นายกสมาคมส่งเสริมทรัพย์สินทางปัญญา
อุปนายกสมาคมการประดิษฐ์ไทย
เกิดวันที่ 20 พฤษภาคม 2506
อายุ 44 ปี
ดำรงตำแหน่ง ประธานกรรมการบริหาร
บริษัท เรืองไชยยุทธ จำกัด
และเป็นวิทยากรผู้เชี่ยวชาญเรื่อง ทรัพย์สินทางปัญญาและ การจดสิทธิบัตร
การนำทรัพย์สินทางปัญญาไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์
สวัสดีครับ ในฉบับนี้ก็จะเข้าถึงการนำทรัพย์สินทางปัญญาไปใช้ในเชิงพาณิชย์ครับ เป็นที่ทราบกันดีว่าในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของประเทศ มักเป็นการลงทุนโดยตรง (Foreign Direct Investment) ของนักลงทุนที่เชี่ยวชาญจากต่างชาติ ซึ่งการลงทุนดังกล่าว นอกจากต่างชาติจะนำเงินทุนเข้ามาบริหารจัดการแล้วจัดเก็บกำไรนำส่งออกไปยังประเทศของตนแล้ว ระหว่างการลงทุนอาจมีการนำความรู้ด้านการบริหารจัดการ ความแข็งแกร่งของเครื่องหมายการค้า เทคโนโลยีและความรู้ทางเทคนิค ซึ่งเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของผู้ลงทุนชาวต่างชาติเข้ามาบริหารจัดการร่วมด้วย
ซึ่งหากผู้ประกอบการของไทยที่เป็นผู้ร่วมลงทุนได้มีการวางแผนล่วงหน้าเพื่อการบริหารจัดการร่วมกันเป็นอย่างดีในแง่การจัดการนิติกรรมสัญญาและการบริหารจัดการบุคลากรของตนเพื่อรองรับองค์ความรู้ทางการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาดังกล่าว จะทำให้ผู้ประกอบการรายนั้นได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีฐานความรู้ใหม่ เพื่อการคิดค้น สร้างสรรค์ หรือแม้กระทั่งการต่อยอดองค์ความรู้เดิมให้เกิดประโยชน์หลากหลายทางด้านวิชาการและในเชิงพาณิชย์ อันเป็นการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ของทรัพย์สินทางปัญญาที่เหมาะสมแทนที่จะได้ประโยชน์เฉพาะในการเป็นตัวแทนชาวต่างชาติ ที่ตักตวงผลประโยชน์ของประเทศชาติออกไปยังต่างประเทศเท่านั้น
ในขณะที่คนไทยที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา พบว่ายังมีความยากลำบากในการที่จะผลักดันให้ทรัพย์สินทางปัญญาของตนออกไปสู่เชิงพาณิชย์ เพราะการนำทรัพย์สินทางปัญญาก้าวไปสู่เชิงพาณิชย์ได้ต้องประกอบไปด้วย
1 ต้องมีการวางแผนด้านกฎหมายที่ดี เริ่มตั้งแต่ต้องมีการคุ้มครองสิทธิอย่างเหมาะสม กล่าวคือเมื่อมีทรัพย์สินทางปัญญาเป็นของตน เข้าของควรพิจารณาประเภทของทรัพย์สินทางปัญญา นั้นจะต้องนำไปจดทะเบียนให้ได้รับความคุ้มครองทั้งภายในประเทศและต่างประเทศที่เป็นเป้าหมาย เช่น สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า หรือเพียงแค่เก็บหลักฐานความเป็นเจ้าของไว้ให้ดี เช่นงานอันมีลิขสิทธิ์ หรือความลับทางการค้า เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายอย่างเต็มที่เมื่อมีการละเมิดหรือถูกกล่าวอ้างว่าไปละเมิดสิทธิผู้อื่น
จากนั้น เจ้าของอาจต้องพิจารณาการจัดทำนิติกรรมสัญญากับบรรดาผู้เข้ามามีส่วนเร่วมในการบริหารจัดการแต่ละขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นสัญญาร่วมลงทุนกับนายทุนผู้สนใจ สัญญาจ้างกับลูกจ้าง หรือผู้รับเหมาสัญญาเก็บรักษาความลับและสัญญาว่าจะไม่ทำธุรกิจแข่งขันในกรณีที่ต้องเปิดโอกาสให้ผู้นั้นเข้ามาล่วงรู้ความลับบางประการที่หากถูกเปิดเผยไปจะทำให้เจ้าของสิทธิ หรือสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธที่เป็นการให้ผู้อื่นนำทรัพย์สินทางปัญญาไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เป็นต้น
นอกจากนี้ ควรให้ความสำคัญกับการป้องกันการละเมิดสิทธิเหนือทรัพย์สินทางปัญญาด้วย ไม่ว่าจะเป็นการที่จะไปละเมิดสิทธิผู้อื่นหรือโดยผู้อื่นละเมิดสิทธิตน เพราะทรัพย์สินทางปัญญาหลายๆอย่างเป็นเรื่องของการต่อยอด ดัดแปลงมาจากของเดิม หากมีการนำไปใช้อย่างไม่เหมาะสมก็อาจเกิดเป็นข้อพิพาทได้ จึงมีความเป็นไปได้ว่าคู่พิพาทอาจจะต้องนำข้อขัดแย้งดังกล่าวเข้าสู่การดำเนิคดีของศาลบ้างในบางกรณี แต่ถ้าไม่ต้องการให้เป็นเรื่องรกโรงรกศาลและเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี ก็อาจใช้บริการของกรมทรัพยสินทางปัญญาในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทได้อีกทางหนึ่งด่วย จะเห็นได้ว่าการที่จะต้องมีผู้มีความรู้ด้านกฎหมายเพื่อสนับสนุนการวางแผนต่างๆ ตลอดขั้นตอนจึงเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง
2 มีวิสัยทัศน์ในการวางแผนธุรกิจ เจ้าของควรจะรู้ในเบื้องต้นว่าทรัพย์สินทางปัญญาของตนแต่ละประเภทมีความเหมาะสมกับธุรกิจประเภทใด มีใครเป็ฯผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องบ้างทั้งในฐานะผู้ร่วมธุรกิจคู่แข่งและผู้บริโภคผลิตภัณฑ์ทรัพย์สินทางปัญญาของตน นอกจากนี้ควรจะต้องคาดการณ์การเงิน การลงทุนและระยะเวลาการดำเนินการได้อย่างเหมาะสม เพื่อให้รู้ว่าในเวลาใดเราต้องการเงินสดจำนวนเท่าใดเพื่อใช้ในการประกอบการ ต้องว่าแผนการตลาดให้มีเงินเข้ามารองรับการใช้จ่ายเหล่านั้นได้อย่างไร หรือจะต้องจัดหาแหล่งเงินทุนเข้ามาสนับสนุนธุรกิจอย่างไร
ดังนี้ ผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาจึงควรมีแผนธุรกิจเบื้องต้นที่สอดรับกับการพัฒนากับความต้องการตลาดทางด้านทรัพย์สินทางปัญญานั้น แผนธุรกิจที่ดีอย่างน้อยควรประกอบไปด้วยวัตถุประสงค์ของแผนธุรกิจนั้นๆ ความเป็นมาของกิจการ ผลิตภัณฑ์ของกิจการแผนการบริหารจัดการ แผนการตลาด แผนการปฏิบัติงานที่จะทำให้เป็นไปตามแผนนั้นๆได้ แผนการเงิน และบทสรุปของผู้บริหาร
การมีทักษะในการวางแผนธุรกิจในระดับสูงจะทำให้เจ้าของสามารถประเมินมูลค่าของมรัพย์สินทางปัญญาที่ตนมีได้ เพราะทรัพย์สินทางปัญญาเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่าและนำไปบริหารจัดการสิทธิได้และลักษณะพิเศษของทรัพย์สินทางปัญญาคือจะด้อยมูลคต่าลงตามวันเวลาที่ผ่านไปหากไม่มีกานำออกไปใช้อย่างเหมาะสมโดยสภาพของตัวมันเอง รวมทั้งจากการพัฒนานวัตกรรมที่ดีกว่าของคู่แข่ง แต่หากทรัพย์สินทางปัญญาได้มีการนำไปใช้อย่างเหมาะสมแล้ว กลับจะเพิ่มคุณค่าในตัวเอง มีมูลค่าทางการตลาดที่สูงขึ้น และเป็นประโยชน์แก่เจ้าของหากมีการแปลงทรัพย์สินทางปัญญาไปเป็นทุนด้วย
3 การสร้างทีมงาน ปัจจุบันมีทรัพย์สินทางปัญญาจำนวนน้อยมากที่ประสบความสำเร็จในการใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิขย์ โดยเฉพาะการผลักดันของเจ้าขอบแต่เพียงผู้เดียว ดังนั้นผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาจึงควรแสวงหาผู้ร่วมงานที่จะดำเนินการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา ได้แก่ การจัดหาแหล่งเงินทุนจากธนาคารพาณิชย์ หรือ จากนักลงทุนเพื่อสนับสนุนแหล่งเงินทุนเบื้องต้นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ จัดหาผู้ผลิตเพื่อผลิตสินค้าที่มีมาตรฐานและคุณภาพออกจำหน่าย การมีผู้รับผิดชอบเฉพาะด้านวิจัยพัฒนาเพื่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่เหมาะสมกับความต้องการของตลาดและเสริมสร้างความสามารถด้านการแข่งขัน การมีที่ปรึกษาทั้งทางด้านบริหาร ธุรกิจ ด้านเทคนิคและกฎหมายที่มีความสามารถ และประสบการณ์มาร่วมเป็นทีมงานที่ดี เพื่อให้การวางแผนบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อการพาณิชย์มีประสิทธิผล การจัดตั้งทีมงานอย่างน้อยจึงควรประกอบด้วย ตัวเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาเอง นักลงทุนที่ปรึกษาทางด้านการเงิน กฎหมายและฝ่ายเทคนิค และที่ขาดไม่ได้คือผู้ที่มีทักษะในการวางแผนงานด้านการบริหารจัดการที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในทรัพย์สินทางปัญญาเรื่องนั้นๆ
ผู้ประกอบการที่นำทรัพย์สินทางปัญญาไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องวางแผนงานที่ดีพร้อมกับทีมงานที่มีประสบการณ์ นอกจากนี้ จึงควรมีความคิดก้าวไกล และสอดส่องความก้าวหน้าของทรัพย์สินทางปัญญาในแขนงที่ตนให้ความสนใจ มีการเปรียบเทียบความสามารถของคู่แข่ง และหากมีความสามารถที่จะนำทรัพย์สินทางปัญญาที่มีความเหนือกว่ามาใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสมย่อมเป็นการนำพาธุรกิจไปสู่ความสำเร็จในเชิงพาณิชย์อย่างแท้จริง
คุณชยธวัช อติแพทย์ ผู้เขียนตีพิมพ์ในวารสารทรัพย์สินทางปัญญา ปีที่ 3 ฉบับที่ 02 ประจำเดือนเมษายน-มิถุนายน 2550
พรชัย ศิรินุกูลชร ผู้เผยแพร่
25/8/50 |