เอกสารอ้างอิงจากงานวิจัย -1- เผยแพร่โดยสมาพันธ์องค์กรผู้ใช้งานลิขสิทธิ์ไทย
รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ โครงการการวิจัยเพื่อเสนอแนวทางการบังคับสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา: การละเมิดลิขสิทธิ์โดยการบรรเลงหรือขับร้องเพลง โดย นายจุมพล ภิญโญสินวัฒน์ และคณะ สิงหาคม 2549
Executive Summary
การบังคับสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศไทยใช้การฟ้องคดีอาญาเป็นหลักเนื่องจากองค์กรภาครัฐทั้งในส่วนขององค์กรนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ และองค์กรภาคเอกชนต่างเข้าใจว่าแนวทางการบังคับสิทธิดังกล่าวควรใช้การฟ้องเป็นคดีอาญา หากพิจารณาจากสถิติคดีของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางนับแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2540 ซึ่งเป็นวันเปิดทำการเป็นครั้งแรกจนถึงปัจจุบัน ปรากฏว่าปริมาณการฟ้องคดีอาญาของคดี คดีทรัพย์สินทางปัญญาสูงถึงประมาณ 96 เปอร์เซ็นของคดีทรัพย์สินทางปัญญาทั้งหมดในแต่ละปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีละเมิดลิขสิทธิ์นั้น ปริมาณการฟ้องคดีอาญาสูงกว่าคดีประเภทอื่นโดยในปี 2547 สัดส่วนของคดีอาญาของคดีลิขสิทธิ์ฟ้องใหม่ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเทียบกับคดีลิขสิทธิ์ทั้งหมด คิดเป็น 98.97 % ส่วนในปี 2548 สัดส่วนของคดีอาญาของคดีลิขสิทธิ์ฟ้องใหม่เทียบกับคดีลิขสิทธิ์ทั้งหมด คิดเป็น 98.93 % สำหรับการละเมิดลิขสิทธิ์โดยการบรรเลงหรือขับร้องเพลงนั้น เจ้าของลิขสิทธิ์ได้เริ่มบังคับสิทธิในประมาณปี 2542 โดยฟ้องเป็นคดีอาญาต่อผู้ประกอบการให้บริการคาราโอเกะขนาดใหญ่ในข้อหาเผยแพร่ต่อสาธารณชน ต่อมา รูปแบบและขอบเขตของการบังคับสิทธิมีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีการใช้กระบวนการตรวจค้นและจับกุมโดยตำรวจและการฟ้องโดยพนักงานอัยการ ยิ่งกว่านั้น ในระยะเวลาต่อมา เจ้าของลิขสิทธิ์ไม่ดำเนินการเอง แต่ได้ใช้วิธีรับค่าตอบแทนการให้สิทธิจากบุคคลภายนอก แลกกับการมอบอำนาจ มอบอำนาจช่วง และมอบอำนาจช่วงต่อไปหลายทอด ให้บุคคลและกลุ่มบุคคลต่างๆ ไปใช้สิทธิเรียกร้องเงินค่าตอบแทนจากสถานประกอบการคาราโอเกะ การฟ้องคดีอาญาเกี่ยวกับการเผยแพร่ต่อสาธารณชนจึงได้ขยายตัวไปออกไปอย่างรวดเร็วจนมีการฟ้องคดีอาญากับร้านคาราโอเกะขนาดเล็ก และต่อมาได้ขยายไปถึงตู้เพลงคาราโอเกะที่ตั้งอยู่ตามร้านอาหารหรือร้านขายของขนาดเล็กทั่วไป จนกระทั่งในช่วงปี 2546 การฟ้องคดีอาญาของลิขสิทธิ์งานดนตรีกรรมเกี่ยวกับการเผยแพร่ต่อสาธารณชนได้ขยายออกไปถึงการบรรเลงและการขับร้องเพลงในสถานที่ต่างๆ เช่น ร้านอาหาร ภัตตาคาร สถานที่จัดงานรื่นเริงหรืองานสังสรรค์ต่างๆ เป็นต้น โดยผู้รับมอบอำนาจช่วงที่รับมอบอำนาจต่อกันไปหลายช่วงจะอ้างฐานความผิดดังกล่าวตามกฎหมายไปใช้เรียกร้องค่าตอบแทนจากนักร้องและนักดนตรี รวมถึงผู้จัดให้มีการบรรเลงหรือร้องเพลงนั้นๆ
เอกสารอ้างอิงจากงานวิจัย -2- เผยแพร่โดยสมาพันธ์องค์กรผู้ใช้งานลิขสิทธิ์ไทย
จากสภาพปัญหาของการดำเนินคดีอาญาดังกล่าวและแนวโน้มของปัญหาที่เพิ่มสูงขึ้นตลอดเวลาดังกล่าว ได้ก่อผลกระทบต่อกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ และสังคมในภาพรวมหน่วยงานในฝ่ายบริหาร เช่น กรมทรัพย์สินทางปัญญา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นต้น ได้พยายามหาทางออกโดยการกำหนดแนวทางปฏิบัติเพื่อลดข้อโต้แย้งระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ เป็นระยะ ๆ ไม่ว่าในรูปของบันทึกความตกลงหรือในรูปของการกำหนดแนวทางปฏิบัติของเจ้าพนักงานตำรวจ อย่างใดก็ตาม ปัญหาการฟ้องคดีกับการบรรเลงหรือขับร้องเพลง รวมถึงการเผยแพร่งานดนตรีกรรมต่อสาธารณชนดังกล่าวกลับมีแนวโน้มที่จะขยายตัวออกไป จนเป็นเหตุให้มีการโต้แย้งหรือร้องเรียนผ่านสื่อมวลชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นระยะๆ งานวิจัยฉบับนี้ศึกษาวิเคราะห์กฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และญี่ปุ่น รวมทั้งแนวทางปฏิบัติและคำพิพากษาของศาลในประเทศดังกล่าว ผลจากการวิเคราะห์ดังกล่าวกลับพบว่าแนวปรัชญาของทรัพย์สินทางปัญญามีพื้นฐานมาจากแนวความคิดทางแพ่งในเรื่องของสิทธิของทรัพย์สินทางปัญญามีพื้นฐานมาจากแนวคิดทางแพ่งในเรื่องของสิทธิของทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่าง ไม่ใช่แนวความคิดทางอาญา แนวปรัชญาดังกล่าวสอดคล้องกับบทบัญญัติในกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับงานดนตรีกรรมสี่ฉบับรวมทั้ง TRIPS ซึ่งล้วนสนับสนุนการบังคับสิทธิทางแพ่งทั้งในส่วนของบทบัญญัติและส่วนอารัมภบท จากการวิเคราะห์พบต่อไปว่ากฎหมายและคำพิพากษาของศาลในประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และญี่ปุ่น มีลักษณะใกล้เคียงกัน กล่าวคือ กฎหมายภายในของประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศอังกฤษ และประเทศญี่ปุ่น ต่างมีบทบัญญัติที่ให้ความสำคัญกับหลักการของการรักษาการดุลระหว่างสิทธิของเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาและประโยชน์สาธารณะ และให้ความสำคัญกับการเข้าถึงงานและการใช้งานของสาธารณชน ไม่ว่าในรูปของการยกเว้นความรับผิด แม้กฎหมายที่ใช้สำหรับบังคับลิขสิทธิ์มีทั้งทางแพ่งและอาญา ในทางปฏิบัติเจ้าของสิทธิต่างใช้การดำเนินคดีทางแพ่งเพื่อเรียกร้องค่าสิทธิและค่าเสียหายเป็นหลัก และมีการดำเนินคดีอาญาน้อยมากเนื่องจากเหตุผลของปัญหาภาระการพิสูจน์ที่สูงและการนำสืบเจตนาของการกระทำความผิดทางอาญา ในทางปฏิบัติ การดำเนินคดีอาญาจึงใช้กับการละเมิดลิขสิทธิ์ขนาดกลางและขนาดใหญ่เท่านั้น สำหรับการละเมิดลิขสิทธิ์โดยการเผยแพร่เพลงต่อสาธารณะไม่ว่าโดยการบรรเลงหรือการขับร้องเพลง โดยทั่วไปเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ขนาดเล็กและเจ้าของสิทธิใช้การฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายในทางแพ่งเท่านั้น โดยไม่ปรากฏว่ามีการดำเนินคดีประเภทนี้เป็นคดีอาญาทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศอังกฤษ และประเทศญี่ปุ่น อีกประการหนึ่ง จากการวิเคราะห์คำพิพากษาของศาลในประเทศดังกล่าวพบว่าศาลได้พยายามจำกัดขอบเขตของการกระทำที่ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ให้มีขอบเขตที่ชัดเจนขึ้นซึ่งเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยในการรักษาการดุลระหว่างสิทธิของผู้มีส่วนได้เสียต่างๆในคดีได้ สำหรับในประเทศไทย ผู้วิจัยได้ศึกษาวิเคราะห์บันทึกการประชุมของการพิจารณาร่าง พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ... ในชั้นของสภาผู้แทนราษฎรทั้งสิบเก้าครั้ง และบันทึกการประชุมของการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ... ในชั้นของวุฒิสภาทั้งสิบสองครั้งพบว่าการเสนอร่างกฎหมายเกือบ
เอกสารอ้างอิงจากเอกสารงานวิจัย -3- เผยแพร่โดยสมาพันธ์องค์กรผู้ใช้งานลิขสิทธิ์ไทย
ทั้งหมด ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาไปโดยมีการแก้ไขจากร่างที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาเสนอน้อยมาก และส่วนใหญ่ไม่มีการพิจารณาถึงรายละเอียดหรือปัญหาในทางปฏิบัติที่อาจเกิดขึ้นจากร่างกฎหมายแต่ละมาตรา นอกจากนั้น การนำเสนอร่างกฎหมายบางประเด็นเป็นการนำเสนอโดยไม่มีการศึกษาวิจัยสนับสนุน โดยไม่มีที่อ้างอิงโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในส่วนของหมวด 8 บทกำหนดโทษ ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้เสนอเพิ่มโทษอาญาของมาตรา 69 และ 70 จากกฎหมายเดิมถึงสองเท่าและห้าเท่า ได้ผ่านการพิจารณาไปโดยไม่มีการแก้ไขและไม่มีการพิจารณาถึงรายละเอียดหรือปัญหาในทางปฏิบัติที่อาจเกิดขึ้นจากร่างกฎหมาย นอกจากนี้ในส่วนของความรับผิดจากการร้องเพลงบรรเลงเพลง รวมทั้งการเผยแพร่งานดนตรีกรรมต่อสาธารณชนนี้ ไม่พบบทบัญญัติที่กำหนดขอบเขตที่สาธารณชนจะใช้งานได้โดยไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์เหมือนกฎหมายของสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และญี่ปุ่น สำหรับองค์กรในอำนาจบริหาร กรมทรัพย์สินทางปัญญาเป็นหน่วยราชการหลักที่รับผิดชอบเกี่ยวกับนโยบายของทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศไทย ที่มีหน้าที่หลักในการส่งเสริมและพัฒนาการสร้างและการใช้ทรัพย์สินทางปัญญาในระดับนโยบาย ซึ่งหน้าที่ส่วนหนึ่งคือการปรับปรุงแนวทางการบังคับสิทธิของลิขสิทธิ์ให้เป็นสากล แต่ในทางนโยบาย กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ถือเอาการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเป็นหนึ่งในสามพันธกิจหลักของหน่วยงาน และในทางปฏิบัติ กรมทรัพย์สินทางปัญญาให้ความสำคัญกับการประชาสัมพันธ์การดำเนินคดีอาญาต่อสาธารณะและเข้าไปร่วมบังคับสิทธิให้เจ้าของลิขสิทธิ์ รวมทั้งได้เน้นการดำเนินคดีอาญาโดยการออกร่วมตรวจจับกับเจ้าของสิทธิและตำรวจ แนวปฏิบัติดังกล่าว มีผลอย่างสูงในการก่อให้รูปแบบการบังคับสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาของไทยเน้นเฉพาะการดำเนินคดีอาญา รวมไปถึงการละเมิดลิขสิทธิ์ขนาดเล็กอย่างการเผยแพร่งานดนตรีกรรมต่อสาธารณชนด้วย สำหรับศาลยุติธรรมนั้น ผู้วิจัยได้ศึกษารายละเอียดของสำนวนคดีการฟ้องคดีละเมิดลิขสิทธิ์งานดนตรีกรรมโดยการบรรเลงหรือขับร้องเพลงในร้านอาหารในปี 2547 ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางซึ่งมีทั้งหมด 30 คดี พบว่า ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางให้ความสำคัญกับประเด็นของขนาดของการละเมิด โดยดูจากจำนวนเพลงที่พนักงานอัยการฟ้อง และใช้ในการกำหนดโทษสำหรับแต่ละคดีนั้นๆ โดยส่วนใหญ่จะใช้เป็นส่วนหนึ่งของ เหตุผลในการกำหนดโทษด้วย ในส่วนของการลงโทษนั้น ปรากฏว่าในช่วงต้นปี 2547 ซึ่งเป็นระยะแรกๆที่พนักงานอัยการฟ้องคดีละเมิดลิขสิทธิ์เกี่ยวกับการบรรเลงหรือขับร้องเพลงในร้านอาหาร นั้น ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาลงโทษปรับจำเลย 2 คดี คือหมายเลขแดงที่ อ 15/2547 และคดีหมายเลขแดงที่ อ 520/2547 แต่ในระยะต่อมาได้ปรับเปลี่ยนแนวการลงโทษไปโดยได้เปลี่ยนจากการลงโทษจำคุกและปรับไปเป็นการรอการกำหนดโทษ รวมทั้งสิ้น 24 คดี แนวคำพิพากษาดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่ศาลทรัพย์ปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะผ่อนคลายการใช้โทษอาญาที่รุนแรงกับคดีละเมิดลิขสิทธิ์งานดนตรีกรรมโดยการเผยแพร่ต่อสาธารณชน อันเป็นคดีละเมิดลิขสิทธิ์ขนาดเล็ก สำหรับข้อเสนอแนะสำหรับแนวทางการดำเนินการต่อการละเมิดลิขสิทธิ์เกี่ยวกับการบรรเลงหรือขับร้องเพลงนั้น ผู้วิจัยได้นำเสนอข้อเสนอแนะทั่วไปที่ใช้ได้กับทุกองค์กรที่เกี่ยวข้อง และได้นำเสนอข้อเสนอแนะเฉพาะองค์กร ซึ่งแยกออกเป็นรัฐสภา องค์กรของอำนาจบริหาร ศาลยุติธรรม และองค์กรภาคเอกชน
เอกสารอ้างอิงจากเอกสารงานวิจัย เผยแพร่โดยสมาพันธ์องค์กรผู้ใช้งานลิขสิทธิ์ไทย
อ่านหน้าต่อไป.......
homepage กลับหน้าเดิม |