-1-
สมาพันธ์องค์กรผู้ใช้งานลิขสิทธิ์ไทย(TOU) 72/18 ม.4 ม.บางบัวทอง ถ.บ้านกล้วย-ไทรน้อย ต.พิมลราช อ.บางบัวทอง นนทบุรี 11110 โทรศัพท์ 02-9233523 โทรสาร 02-9232543 มือถือ 081-4905263 [email protected]
วันอังคารที่ 11 มกราคม 2554
เรียน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายอลงกรณ์ พลบุตร เรื่อง ปัญหาในการบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ 2537
สมาพันธ์องค์กรผู้ใช้งานลิขสิทธิ์ไทย ซึ่งเป็นองค์กรตัวแทนของผู้ประกอบการที่ใช้งานเพลงอันมีลิขสิทธิ์ ประกอบด้วยผู้ประกอบการ ร้านอาหาร ภัตตาคาร โรงแรม สถานบันเทิง ตู้คาราโอเกะ ร้านเกม-อินเตอร์เน็ต เป็นต้น ได้รับผลกระทบจากการจัดเก็บลิขสิทธิ์งานเพลงอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากความไม่มีมาตรฐานและไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง ไม่มีขั้นตอนในการดำเนินการที่อำนวยให้สามารถใช้งานเพลงอย่างถูกต้อง สืบเนื่องมาจากการถูกกล่าวหาว่าละเมิดลิขสิทธิ์เป็นโทษทางอาญา ที่ต้องอาศัยเงินประกันตัวค่อนข้างสูง มีการยึดของกลางที่เกินกว่าเหตุ อันเนื่องมาจากดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ บางคนที่อาศัยข้อกฎหมายเป็นเครื่องมือในการตั้งวงเงินประกันตัวที่สูง เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการกดดันผู้ประกอบการให้มีการจ่ายเงินเพื่อยอมความแลกกับการไม่ถูกยึดของกลางและถูกคุมขัง สาเหตุหลักมาจากความซับซ้อนของสิทธิ์ที่มีอยู่ในงานเพลง(ดนตรีกรรม) และการเปลี่ยนถ่ายโอนสิทธิ์อย่างเสรี และง่ายดายโดยไม่มีการควบคุม การแยกตัวออกมาจัดเก็บอย่างต่อเนื่องของบริษัทจัดเก็บ ประกอบกับมีงานเพลงในระบบเป็นจำนวนมากเกินกว่าที่ผู้ประกอบการจะสามารถบริหารจัดการหรือแยกแยะข้อมูลอย่างถูกต้อง ทันตามเหตุการณ์ ทำให้เกิดขบวนการแสวงหาประโยชน์ในลักษณะการใช้สิทธิ์โดยไม่สุจริตในการ ตรวจสอบเพลงเป้าหมายเพื่อ จงใจหลอกล่อให้มีการละเมิดเพื่อแจ้งความจับกุม ปกปิดข้อมูลเพื่ออาศัยเป็นช่องทางในการใช้สิทธิ์ไปในทางหาผลประโยชน์นอกระบบ หรือสร้างหลักฐานเท็จในกรณีลักลอบโหลดเพลงเข้าในคอมฯ ของร้านเกม-อินเตอร์เน็ตซึ่งเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้ประกอบการอย่างกว้างขวาง และทีมจับไม่ยอมให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับผู้ประกอบการยิ่งตอกย้ำถึงเจตนาที่ไม่ต้องการขายสิทธิ์แต่ต้องการแจ้งความจับกุมเพื่อรีดไถเงินค่ายอมความ สมาพันธ์ฯได้รับการร้องเรียนจากผู้ประกอบการจำนวนมากจึงได้รวบรวมปัญหาเพื่อเสนอให้มีการแก้ไขอย่างเร่งด่วนดังนี้
1 บริษัทจัดเก็บมักปกปิดข้อมูลหรือไม่ให้ความร่วมมือในการแยกแยะงานเพลงที่อยู่ในสิทธิของตนเพื่อเป็นเครื่องมือในการแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ประกอบการที่ไม่รู้ข้อมูล ซึ่งมีพฤติกรรมในการใช้สิทธิ์โดยไม่สุจริต
2 ไม่มีการแจ้งเตือนหรือให้ข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อให้โอกาสผู้ประกอบการบริหารจัดการให้ถูกต้อง มีการหลอกล่อให้เผยแพร่เพลงเป้าหมายหรือสร้างหลักฐานเท็จในประเด็นโหลดข้อมูลเข้าไปในคอมฯ ของผู้ประกอบการเพื่อแจ้งความดำเนินคดี
-2-
3 ความไม่เป็นธรรมด้านอัตราจัดเก็บ ในการแยกตัวออกมาจัดตั้งบริษัทจัดเก็บเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นภาระและอุปสรรค์ในการใช้งานเพลงให้ถูกต้อง ทั้งที่งานเพลงมีปริมาณเท่าเดิมในระบบ
4 บริษัทจัดเก็บมีพฤติกรรมในการคุกคามสิทธิ เสรีภาพของสาธารณชน โดยการข่มขู่เพื่อจัดเก็บ การเผยแพร่งานลิขสิทธิ์ผ่านสื่อสาธารณะเช่น ทีวีสาธารณะ(ฟรีทีวี) ต่อผู้ประกอบการที่เผยแพร่สื่อสาธารณโดยปกติในสถานบริการโดยมิได้แสวงหาประโยชน์ทางการค้าหรือละเมิดเจ้าของสิทธิ์ตามกฎหมายเช่นกรณีการถ่ายทอดกีฬาฟุตบอล เป็นต้น
5 กฎหมายลิขสิทธิ์ยังไม่มีความชัดเจนในการคุ้มครองสิทธิ์ของผู้สร้างสรรค์ แต่กลับเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มมิจฉาชีพและเจ้าหน้าที่บางคน ในการอาศัยช่องโหว่ของกฎหมายแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ คุมคามสิทธิ เสรีภาพของภาคประชาชน และเป็นอุปสรรค์ในการจัดตั้ง องค์กรบริหารค่าตอบแทนลิขสิทธิ์ โดยเฉพาะสิทธิ์เผยแพร่งานดนตรีกรรมต่อสาธารณะ ที่เป็นมาตรฐานสากลและสอดคล้องกับวัฒนธรรมของไทย
ข้อเสนอในการแก้ไขปัญหา
1 ขอให้มีการกวดขันในขั้นตอนการดำเนินคดีการละเมิดลิขสิทธิ์ เช่นผู้ประกอบการควรได้รับการเตือนจากเจ้าของสิทธิ์เป็นลายลักษ์อักษร และให้แจ้งข้อมูลโดยระบุชื่อเพลงที่เป็นสิทธิ์ของตนเองให้ชัดเจนเพื่อที่ผู้ประกอบการสามารถบริหารจัดการให้ถูกต้องได้
2 การยึดของกลางควรพิจารณาให้เป็นธรรมต่อผู้ประกอบการเพื่อไม่ให้เป็นเครื่องมือในการกดดันหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อธุรกิจของผู้ประกอบการที่ใช้งานเพลงของบริษัทอื่นๆที่ถูกต้องอยู่แล้ว
3 ขอให้พิจารณากรณีของการลักลอบโหลดเพลงเข้าไปในคอมฯ สร้างหลักฐานเท็จ เพื่อเจตนาจับกุมรีดไถโดยขอให้พิจารณาถึงเจตนาเป็นหลัก โดยประสานทางฝ่ายเจ้าพนักงานตำรวจให้พิจารณาเป็นองค์ประกอบด้วย
4 ขอให้พิจารณาระบุความชัดเจนของประเด็นการเผยแพร่งานลิขสิทธิ์ผ่านทางทีวีสาธารณ และองค์ประกอบของสิทธิระหว่างเจ้าของงานลิขสิทธิ์และสิทธิของสาธารณะในการรับชมรายการเผยแพร่ผ่านทางสื่อทีวีสาธารณะ
5 ขอให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ให้มีองค์กรบริหารค่าตอบแทน การเผยแพร่งานดนตรีกรรม ที่มีมาตรฐานสากลและให้ความคุ้มครองทุกฝ่ายตามสิทธิอันพึงมีของผู้สร้างสรรค์และผู้ประกอบการฯ เพื่อไม่ให้มีผลกระทบถึงสังคม
6 ขอให้พิจารณาให้ความช่วยเหลือด้านประกันตัว(อิสรภาพ)ให้กับผู้ประกอบการที่ถูกดำเนินคดีโดยไม่เป็นธรรม -3-
โดยภาพรวมของการบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ เป็นต้นมาได้ส่งผลกระทบถึงผู้ประกอบการและผู้สร้างสรรค์ ตลอดมาโดยปัญหาได้ทวีความซับซ้อนขึ้นเป็นลำดับ เกิดกระบวนการของมาเฟีย ที่แฝงมากับทีมจับและนายหน้าค้าเพลง อาศัยคดีอาญา เป็นเครื่องมือในการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ มีพฤติกรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกันทางการค้า บั่นทอนให้เกิดการล่มสลายของวงการลิขสิทธิ์ที่ส่งผลกระทบถึงผู้สร้างสรรค์และผู้ประกอบการ สร้างความปั่นป่วนทางสังคมทำให้พนักงานที่ให้บริการต้องตกงานสร้างผลกระทบถึงปัญหาสังคมและปัญหาอาชญากรรมอย่างต่อเนื่อง
สมาพันธ์องค์กรผู้ใช้งานลิขสิทธิ์ไทยหวังว่าท่านฯ จะพิจารณาแก้ไขปัญหาและยับยั้งความเสียหายที่จะเกิดขึ้นมากกว่าที่เป็นอยู่ และสมาพันธ์ฯ ยินดีให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาให้เป็นรูปธรรม
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
ขอแสดงความนับถือ ลงชื่อ.............................................................................เลขาธิการฯ (นายพรชัย ศิรินุกูลชร)
Go back (ชมภาพรวมการประชุม) |