ผลกระทบจากการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์
1 ไม่มีการจดทะเบียนความเป็นเจ้าของสิทธิ์แต่ละประเภท
2 ความไม่ชัดเจนของความเป็นเจ้าของสิทธิ์ ทำให้เกิดการอ้างสิทธิ์ที่ซ้ำซ้อนกัน
3 มีการจับเพื่อรีดไถ การดำเนินคดีอาญากับการละเมิดสิทธิ์เผยแพร่รายย่อย เป็นชนวนเหตุของการเกิดกลุ่มมิจฉาชีพหากินกับการล่อซื้อ และดำเนินคดีกับผู้ประกอบการทางอาญา ประกอบกับความไม่ชัดเจนของเจ้าของสิทธิ์ที่ซ้ำซ้อนกันทำให้มีการแอบอ้างสิทธิ์และไปซื้อสิทธิ์มาจากครูเพลงเพื่อทำการ จับกุมเพื่อรีดไถ กรรโชกทรัพย์เรียกร้องเงินทองตอบแทนเพื่อแลกกับการยอมความ โดยมีเจ้าหน้าที่บางส่วนให้ความร่วมมือและมีผลประโยชน์ร่วมกันกับกลุ่มมิจฉาชีพ
4 ขัดต่อเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ หลักการดำเนินการและแนวทางการบริหารของภาครัฐที่ผิดเพี้ยนไปจากหลักการทางสากล ขัดต่อเจตนารมณ์ของ ก.ม.ลิขสิทธิ์ทางสากลที่มุ่งคุ้มครองสิทธิ์ของผู้สร้างสรรหรือครูเพลง แต่ในทางปฏิบัติเจ้าของสิทธิ์ดนตรีกรรมกลับเป็นผู้เสียเปรียบและด้อยโอกาส ในการใช้สิทธิ์ในการบริหารจัดเก็บตั้งแต่ต้น
5 จากกรณีข้อ 3 ที่เจ้าของลิขสิทธิ์ที่แท้จริงถูกสวมสิทธิ์ในการบริหารจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ ดังกล่าว เป็นที่มาของปัญหาการได้รับผลตอบแทนจากการจัดเก็บที่ไม่โปร่งใสและไม่เป็นธรรม การตอบโต้เรียกร้องสิทธิ์กลับคืนมาของเจ้าของสิทธิ์โดยการแยกตัวออกมาตั้งบริษัทจัดเก็บของตนเอง เป็นสาเหตุหลักที่เป็นที่มาของการอ้างสิทธิ์ซ้ำซ้อนและการฉวยโอกาสของกลุ่มมิจฉาชีพเป็นทีมจับที่มีพฤติกรรมในการจับกุมรีดไถ ผู้ประกอบการจึงต้องตกอยู่ในสถานะของเหยื่อแห่งความขัดแย้งตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน
6 การลงโทษผู้ละเมิดสิทธิ์เผยแพร่รายย่อยทางอาญาขัดต่อหลักการทางสากลของกฎหมายระหว่างประเทศ การดำเนินคดีอาญากับผู้ละเมิดรายย่อยเป็นการขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศทั้ง 4 ฉบับที่ให้ดำเนินคดีกับผู้ละเมิดเป็นคดีแพ่งทั้งหมดเช่น อนุสัญญา WIPO(World Intellectual Property Organization) (ที่ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิก) สนธิสัญญา WCT(World Copyright Treaty) WPPT(World Performance and Phonograms Treaty) TRIPS Agreement (Trade Related Aspects of Intellectual Property Rights Agreement) มีเพียงข้อตกลง TRIPS Agreement เท่านั้นที่มีการบัญญัติให้มีการดำเนินคดีทางอาญาแต่ให้ใช้กับการละเมิดทางพาณิชย์ขนาดใหญ่เท่านั้นสำหรับการละเมิดรายย่อยให้ใช้การดำเนินคดีทางแพ่งทั้งสิ้นโดยเฉพาะกรณีการละเมิดสิทธิ์เผยแพร่ต่อสาธารณชน
6 อัตราจัดเก็บที่ไม่เป็นธรรม ภาครัฐไม่สามารถบริหารจัดการในส่วนของอัตราจัดเก็บที่แม้จะมีการประกาศให้การจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เป็นสินค้าควบคุม แต่ก็ไม่มีผลในทางปฏิบัติเพราะ บริษัทจัดเก็บมีการแยกตัวออกมาจัดเก็บจนปัจจุบันมีถึง 15 บริษัทฯการแยกตัวแต่ละครั้งหมายถึงอัตราจัดเก็บจะเพิ่มขึ้นตามที่เรียกเก็บ ซึ่งบริษัทจัดเก็บมีอิสระในการกำหนดอัตราจัดเก็บเองโดยพละการโดยไม่มีการควบคุมตามที่ได้ประกาศไว้ว่าเป็นสินค้า ควบคุม
7 นิยามของกฎหมายไม่ชัดเจน ในข้อที่ว่า ความผิดในการละเมิดสิทธิ์เผยแพร่ต่อสาธารณชนเป็นการกำหนดนิยามที่กว้างและไม่ชัดเจนในทางปฏิบัติ ทั้งยังไม่มีบทอธิบายหรืออารัมภบทของนิยามดังกล่าว ทำให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติเช่นการคุ้มครองลิขสิทธิ์ของเจ้าของสิทธิ์กับสิทธิทางวัฒนธรรมของประชาชนที่ได้มีการบัญญัติไว้ในมาตราที่ 46 ของรัฐธรรมนูญ การกำหนดคำดังกล่าวที่ไม่มีเส้นแบ่งและขอบเขตที่ชัดเจนระหว่างขอบเขตของสิทธิตามกฎหมายของเจ้าของสิทธิ์และผลประโยชน์ทางวัฒนธรรมของสาธารณชนที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายรัฐธรรมนูญเช่นกัน
8 /การละเมิดสิทธิมนุษยชน การบังคับใช้กฎหมายลิขสิทธิ์ในการดำเนินคดีอาญากับผู้ละเมิดรายย่อยเป็นที่มาของปัญหาที่เป็นสาเหตุให้เกิดความรุนแรงในทางปฏิบัติ ตั้งแต่ขั้นตอนการแจ้งความร้องทุกข์กับเจ้าพนักงานตำรวจ โดยผู้แจ้งเป็นผู้ละเมิดเองโดยการล่อซื้อด้วยตัวเอง ก่อนที่จะดำเนินคดีกับผู้ต้องหา โดยการกล่าวหาว่า ละเมิดสิทธิ์เผยแพร่ต่อสาธารณชน มีการยึดตู้มาเป็นของกลาง จับเจ้าของร้านมาเป็นผู้ต้องหา หากเจ้าพนักงานตำรวจให้ความร่วมมือหรือรับสินบนจากผู้แอบอ้างสิทธิ์ จะมีการข่มขู่ผู้ต้องหาให้มีการยอมความกัน หากไม่ยอมจ่ายก็จะถูกจับกุมคุมขังและต้องประกันตัวด้วยวงเงินที่สูง เพื่อเป็นข้อต่อรองกดดันให้ต้องมีการยอมความจ่ายเงินตอบแทนเพื่อแลกกับอิสระภาพ ทั้งที่ยังไม่มีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามข้อกล่าวหาแต่อย่างใด อีกทั้งของกลางที่เป็นเครื่องมือทำมาหากินก็ถูกยึดก็มักจะได้รับเสียหายและสูญหายโดยไม่มีผู้รับผิดชอบ การยึดตู้และอุปกรณ์สำหรับทำมาหากิน การประกันตัวด้วยวงเงินที่สูง การถูกดำเนินคดีในระยะยาวทำให้ต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายในการสู้คดี ล้วนเป็นเงื่อนไขที่เอื้อประโยชน์กับกลุ่มมิจฉาชีพและเจ้าหน้าที่ที่ประพฤติมิชอบทั้งสิ้น พฤติกรรมดังกล่าวล้วนส่งผลกระทบถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนและละเมิดสิทธิมนุษยชนตามมาตรา 29
8 การไม่สามารถรับข้อมูลข่าวสารทางลิขสิทธิ์ของผู้ประกอบการ(Public Awareness)การที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่อาจรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากการจัดเก็บลิขสิทธิ์ไม่ว่าจากค่ายเพลง บริษัทจัดเก็บหรือสำนักลิขสิทธิ์ โดยตรงเป็นอีกปัญหาหลักที่ผู้ประกอบการไม่ได้รับรู้เพื่อการดูแลให้การใช้งานลิขสิทธิ์เป็นไปอย่างถูกกฎหมาย ในส่วนของบริษัทจัดเก็บบางแห่งก็ไม่มีความจริงใจในการแจ้งข้อมูลข่าวสารเพื่อใช้งานเพลงให้ถูกต้อง ในทางเป็นจริงการที่ผู้ประกอบการไม่สามารถเข้าถึงข้อมูล กลับเอื้อประโยชน์ให้กับทีมจับที่จ้องจับเพื่อรีดไถ อีกทั้งความซ้ำซ้อนของการอ้างสิทธิ์ที่มีจำนวนมาก และภาครัฐไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งที่เป็นปัญหาที่ซ้ำซากและมองเห็นปัญหาอย่างชัดเจน ที่ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถหลีกเลี่ยงการถูกแจ้งจับข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์เผยแพร่ได้ด้วยสาเหตุหลักดังกล่าว
9 การแยกตัวออกมาจัดเก็บหลายองค์กรเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้มีอัตราจัดเก็บที่สูง ในการแยกตัวออกมาจัดเก็บทำให้เกิดค่าใช้จ่ายที่ต้องแบกรับในแต่ละบริษัทฯอีกทั้งเป็นการทำงานที่ซ้ำซ้อนกันทุกบริษัทจัดเก็บทั้งเครื่องมืออุปกรณ์ สำนักงาน เอกสาร และพนักงานของบริษัท ค่าใช้จ่ายดังกล่าวของแต่ละบริษัทจะเป็นต้นทุนของปัจจัยสำคัญที่มาส่งผลกระทบด้านอัตราจัดเก็บกับผู้ประกอบการและผู้ใช้งานเพลงโดยตรง การให้ข้อมูลหรือรายชื่อเพลงในลักษณะที่ต่างคนต่างทำและเพลงหนึ่งอาจจะมีการจัดเก็บซ้ำซ้อนกันในหลายบริษัทในเวลาเดียวกัน การที่ต้องแจ้งรายชื่อเพลงให้กับผู้ใช้งานเพลงในการจัดเก็บก็เป็นอีกสาเหตุ หนึ่งของการเพิ่มต้นทุนในการดำเนินการของแต่ละบริษัทฯ จากสาเหตุดังกล่าวการรวมบริษัทจัดเก็บหรือองค์กรจัดเก็บให้เป็นองค์กรเดียวกันและให้มี 1 สิทธิ์ต่อหนึ่งองค์กร(นำฐานข้อมูลมารวมกันแก้ปัญหาการซ้ำซ้อนของสิทธิ์)จึงจะสามารถแก้ปัญหาได้ถูกประเด็น ทั้งปัญหาของฐานข้อมูลและอัตราจัดเก็บที่นำมารวมกันจะทำให้สามารถประหยัดรายจ่าย การให้ข้อมูลรายชื่อเพลงในการใช้กับผู้ประกอบการก็จะเป็นเอกภาพ การบริหารจัดการก็จะคล่องตัวไม่ซ้ำซ้อนกัน ผู้ประกอบการหรือผู้ใช้งานเพลงก็จ่ายเพียงครั้งเดียว
(รัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 46 บุคคลซึ่งรวมกันเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมย่อมมีสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟู จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะหรือวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ และมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ)
"ในส่วนของอัตราจัดเก็บที่ผู้ประกอบการผู้ใช้งานเพลงต้องการให้เก็บในราคาที่สามารถอยู่ร่วมกันได้ ในส่วนของผู้สร้างสรรเจ้าของงานลิขสิทธิ์ก็ต้องการผลตอบแทนที่เป็นธรรม ทั้งสองส่วนที่กล่าวนี้ประเด็นสำคัญอยู่ที่ความโปร่งใสในการบริหารจัดการขององค์กรจัดเก็บที่ต้องสร้างฐานการจัดเก็บให้ขยายกว้างขวางออกไปในทุกภาคส่วนของผู้ใช้งานเพลงไม่ให้กระจุกตัวจัดเก็บเฉพาะธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งอย่างที่เคยเป็นมา การวางระบบการจัดเก็บให้ครอบคลุมทุกภาคส่วนอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพเป็นเครือข่าย เป็นการกระจายฐานให้ผู้ใช้งานเพลงทั้งระบบเข้ามาช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายในการดำเนินการขององค์กรฯทำให้อัตราการจัดเก็บถูกลงตามปริมาณที่มากขึ้น จะทำให้ผู้ประกอบการไม่รู้สึกว่าถูกเลือกปฏิบัติและไม่ได้รับความเป็นธรรม เมื่อสามารถเข้าถึงเป้าหมายร่วมกันได้ปัญหาของประเด็นอัตราจัดเก็บและการแบ่งปันประโยชน์สู่ผู้สร้างสรรผลงาน ก็จะได้รับการแก้ไขโดยกลไกของระบบเอง เพียงแต่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายควรจะหันหน้าเข้ามาแก้ปัญหาร่วมกันด้วยความจริงใจโดยยึดถือประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก"
ข้อเสนอในการแก้ไขปัญหา
1 ห้ามไม่ให้มีการแจ้งความดำเนินคดีการละเมิดสิทธิ์เผยแพร่บนแผ่นเพลงที่ไม่ใช่เป็นของตนเอง (ห้ามจับข้ามค่าย)ทั้งนี้เป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมีองค์กรจัดเก็บตามร่างใหม่ของ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์
2 ให้ภาครัฐจัดตั้งกองทุนเพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในการบังคับจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลงโดยเฉพาะเช่นกรณีที่ผู้ประกอบการถูกดำเนินคดีโดยไม่เป็นธรรม ให้มีการช่วยเหลือทางคดีและให้มีการชดเชยความเสียหายแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบอย่างไม่เป็นธรรม
3 ให้มีการควบคุมอัตราจัดเก็บให้เป็นธรรมโดยการเจรจาระหว่างเจ้าของสิทธิ์และผู้ใช้งานหรือรัฐเข้ามาแทรกแซงในการกำหนดอัตราจัดเก็บตามประกาศของกรมการค้าภายในที่ให้การจัดเก็บลิขสิทธิ์เป็นสินค้าควบคุม
4 ให้กระทรวงวัฒนธรรมเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดเก็บ เพื่อดูแลผลกระทบทางวัฒนธรรมและผลประโยชน์ส่วนใหญ่ของสาธารณชน
5 ให้มีการยกเลิกคณะกรรมการลิขสิทธิ์ชุดปัจจุบันและแต่งตั้งคณะกรรมการลิขสิทธิ์ชุดใหม่ที่เป็นตัวแทนผู้ใช้งานลิขสิทธิ์อย่างน้อย 6 คนตามที่ระบุในมาตรา ของ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ 2537
6 ให้มีการออกกฎหมายเวนคืนลิขสิทธิ์เพลงทั้งระบบโดยภาครัฐเป็นผู้ซื้อสิทธิ์เข้ามาบริหารเองโดยเฉพาะผลงานเพลงที่มีกรณีพิพาทเกี่ยวกับความเป็นเจ้าของสิทธิ์ โดยเน้นผลงานเพลงที่มีก่อนการประกาศใช้ พ.ร.บ.ปี2537 และผลงานเพลงที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมโดยประกาศให้เป็นลิขสิทธิ์สาธารณะ(Public Copyright)
พรชัย ศิรินุกูลชร 29/9/49
|